บรรณ สุวรรณโณชิน ชายผู้กินอุดมการณ์ในเสียงเพลง

บรรณ สุวรรณโณชิน ชายผู้กินอุดมการณ์ในเสียงเพลง....โดย...พรเทพ เฮง Post today วันที่ 19 ส.ค. 2560

บรรณ สุวรรณโณชิน จากทายาทร้านจำหน่ายใบชา รักดนตรีฝึกหัดเล่นดนตรีจนเชี่ยวชำนาญ เล่นดนตรีกลางคืนเป็นอาชีพมาตั้งแต่ศึกษาอยู่พณิชยการสีลม เคยทำงานประจำเป็นร้านจิวเวลรี่ที่สยามสแควร์เป็นเวลา 1 ทศวรรษ กับ 3 ปี

 ด้วยใจรักดนตรีและเสียงเพลง การผจญภัยบนเส้นทางสายนี้ ในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลงที่ออกอัลบั้มของตัวเองมาตั้งแต่ปี 2539 ล้มลุกคลุกคลานแต่ไม่เคยท้อ ทำค่ายเพลงค่ายแรกก็เจ๊ง ไปตั้งหลักใหม่จนปี 2547 กำเนิดค่ายเพลง“ใบชา Song” สร้างทำแบบอินดี้เอสเอ็มอี ทำเองหมดทุกอย่างตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และสามารถยืนหยัดมาได้จนถึงวันนี้มาสนทนากับเขาถึงอุดมการณ์และความอยู่รอดในท่ามกลางอุตสาหกรรมเพลงร่วมสมัยตกต่ำจนเกือบถึงขีดสุด เขาอยู่รอดมาได้อย่างไร? และสามารถสร้างฐานแฟนเพลงและคนฟังของค่ายเพลงอย่างช้าๆ แต่มั่นคง..

+ วงการเพลงไทยร่วมสมัยในยุคดิจิทัลในมุมมองของคุณเป็นอย่างไรบ้างครับ

มันเป็นเหมือนโลกยุคใหม่น่ะครับ เพราะเราเคยผ่านมาแต่วงการดนตรีในรูปแบบแผ่นเสียง เทป ซีดี กลายเป็นยุคดิจิทัลที่เอาไฟล์เพลงไปลอยไว้ จับต้องไม่ได้เหมือนฟอร์แมตต่างๆที่กล่าวมา จริงๆมันจะไม่มีปัญหาถ้าตลาดมันโตเหมือนศิลปินต่างประเทศที่มีตลาดทั่วโลก หรือแม้แต่ญี่ปุ่นที่ประเทศเขายังแข็งแรงเรื่องแผ่นเพลงที่ยังจับต้องได้ แต่นิสัยคนไทยส่วนมากชอบของฟรี แถมยังมีส่วนหนึ่งคอยปล่อยเพลงให้โหลดเถื่อนอีก เหตุนี้เลยคิดว่าศิลปินและค่ายเพลงไทยที่ยังอยู่ในกึ่งระบบเดิมจะอยู่รอดยากมากๆ และจะเห็นได้ชัดว่าโปรดิวเซอร์ชื่อดัง และศิลปินที่มีชื่อเสียงในอดีตส่วนใหญ่จะรับไม่ได้กับรูปแบบที่เป็นอยู่นี้ จึงไม่ได้เห็นบุคลากรเหล่านี้มาควักเงินลงทุนทำเพลงเอง ทั้งที่มีต้นทุนชื่อเสียงดีกว่าคนทำเพลงหรือศิลปินมือใหม่ๆ เพราะชินกับรูปแบบเดิมๆที่เคยเป็นของระบบค่ายใหญ่
และน่าจะเป็นสิ่งพิสูจน์ได้ว่าวงการเพลงไทยไม่เหมาะกับการดาวน์โหลดด้วยพฤติกรรมของคน เพราะปัจจุบันยอดดาวน์โหลดของแทบทุกค่ายก็ลดน้อยลง ซึ่งทางใบชาซองเราเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปล่อยเพลงไปดาวน์โหลดสตริมมิ่งมานานกว่า 5 ปีแล้ว เพลงดีๆลงยูทูปก็ใช่ว่าจะมียอดวิวมาก ส่วนยอดวิวที่มากมายเป็นสิบล้านร้อยล้านคือ เพลงกระแสหลักหรือเพลงที่มีภาพลามกและรุนแรง เพราะฉะนั้นคนทำเพลงดีๆสร้างสรรค์มีคุณภาพจึงอยู่ยากขึ้นในยุคนี้

+ในฐานะคนที่ผ่านร้อนหนาวตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของวงการเพลง จนปัจจุบันนี้ ที่หลายคนบอกว่าตกต่ำสุดๆ อยากให้เล่าความประทับใจและความสะเทือนใจของคุ

ในยุคนี้ที่บางคนเรียกว่าตกต่ำสุดๆแล้ว แต่ผมคิดว่ามันน่าจะยังไม่สุด ถ้าจะตกสุดจริงๆ น่าจะมีเหตุการณ์เพิ่มเติมที่บ่งบอกได้มากกว่านี้คือ โรงงานผลิตเลิกไปหมด ซึ่งในตอนนี้เท่าที่ทราบมีเหลืออยู่แค่สองที่ อีกอย่างคือร้านค้าแผ่นซีดีที่เหลืออยู่ปิดตัวลงหรือไปจำหน่ายสินค้าอย่างอื่นแทน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ตกสุดขนาดนั้นครับ
ความประทับใจของผมก็คือยังมีแฟนเพลงนักฟังตัวจริงอุดหนุนแผ่นของเรา คล้ายๆสมัยที่ผมชอบค่ายไหนแล้วไม่ต้องทดลองฟัง ออกชุดไหนมาก็ซื้อเลย เราทำได้ถึงจุดนั้นแล้ว เพียงแต่นักฟังเหล่านี้ยังมีจำนวนน้อย ส่วนความสะเทือนใจคือเมื่อเราออกอัลบั้มใหม่ ก็มักจะมีคนนำไปปล่อยให้ดาวน์โหลดกันฟรีๆ    

+ ปัจจุบันค่ายใบชาของคุณ ถือว่าผลิตงานเป็นอัลบั้มออกมาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง (บางทีมากกว่าค่ายยักษ์ใหญ่ด้วยซ้ำไป) คุณมีปรัชญาและการดำเนินธุรกิจอย่างไร

จนถึงทุกวันนี้เรามีซีดีอัลบั้มทั้งหมด 36 ชุด แผ่นเสียงอีก 16 ชุด และยังคงผลิตงานเพลงที่มีสไตล์ออกมาอีกเรื่อยๆ จนคนในวงการที่เห็นถึงกับงงว่ายังมีค่ายที่ทำอัลบั้มเต็มออกมาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งไม่น่าจะเรียกว่าธุรกิจได้เลย ที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้เราอยู่มาปีที่ 13 แล้วไม่เคยมีอัลบั้มไหนที่ตั้งโจทย์ว่าอันนี้น่าจะขาย หรืออันนี้คนจะต้องซื้อแน่ๆ มีแต่ว่าเราคิดอยากทำเพลงอะไรที่เราชอบ อยากให้มีงานเพลงแบบนี้ในวงการเพลงไทย และทำให้มันมีคุณภาพทั้งตัวเพลง ระบบเสียง ไปจนถึงแพ็คเกจ ฯลฯ ซึ่งถ้าใครได้เฝ้ามองจะเห็นว่ามีการพัฒนามาเรื่อยๆในทุกกระบวนการ โดยไม่ได้เอาธุรกิจมานำเลย เรายึดหลักพอเพียง ส่วนไหนทำได้ก็ทำเอง ได้อย่างใจ มีเอกลักษณ์ และถือเป็นต้นทุนแรงกายความคิดตัวเอง เรียกว่าเราเอาศิลปะมานำหน้าธุรกิจ ถ้าคนคิดจะทำเพลงเป็นธุรกิจจริงคงอยู่ไม่ได้นานแล้วล่ะครับ เพราะรายได้มันไม่เพียงพอกับรายจ่าย มันต้องใช้ระยะเวลากับการรอคอย และเราไม่คิดเปิดออฟฟิสขยายตัวให้ใหญ่โต ทำเท่าที่ตัวเองทำได้

+ ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการละเมิดลิขสิทธิ์ในวงการดนตรี คุณต่อสู้มาตลอด อยากให้พูดถึงจุดนี้

เราโดนละเมิดลิขสิทธิ์มาหลายรูปแบบ ทั้งการถูกปล่อยเพลงในเวปเถื่อน, ร้านเครื่องเสียงบางร้านนำเอาไฟล์เพลงไปแจก-ขายให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์กรเล็กๆอย่างเราไม่สามารถจะไปจัดการกับคนเหล่านั้นได้เลย ผมว่าอยู่ที่จิตสำนึกของคนในรุ่นต่อไป ที่ต้องปลูกฝังให้เคารพสิทธิ์ผู้อื่น ไม่คิดว่าถ้าเป็นเพลงก็ต้องฟรี เพราะนั่นเป็นเรื่องอันตรายต่อวงการเพลงเป็นอย่างมาก ถ้าไม่มีใครคิดจะควักเงินซื้อเพลง ไม่ใช่ศิลปินจะอยู่ไม่ได้เท่านั้น ระบบของวงการเพลงทั้งองคาพยบจะล้มสลายแน่นอน  

+ ความพยายามอีกอย่างหนึ่งของคุณคือขายเพลงในตลาดนานาชาติให้ได้ และประสบความสำเร็จมาบ้างพอให้ชื่นใจ ช่วยเล่าประสบการณ์หน่อยครับ

ผมคิดว่าเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจอย่างมากในโลกที่ทุกวันนี้เราใกล้กันแค่เอื้อมด้วยโซเชียลเนทเวิร์ค เราไม่ได้คิดตะเกียกตะกายพยายามที่จะไปทำให้เขาชอบ แต่มันไปด้วยคาแรกเตอร์ของเพลงอย่างลูกทุ่งไฮไฟ, สวีทนุช หรืออะไรที่ผสมความเป็นไทย มีต่างชาติมาชื่นชอบอย่างลูกทุ่งไฮไฟชุดแรก ชาวญี่ปุ่นมาซื้อ แผ่นถึงบ้านเพื่อนำไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่น พอออกลูกทุ่งไฮไฟชุดสองห่างกัน 6 ปี คนเดิมก็กลับมาซื้ออีก แสดงให้เห็นว่าเขาติดตามชุดนี้มาตลอด
ตอนทำแผ่นเสียงลูกทุ่งไฮไฟชุดแรก คนเยอรมันที่เป็นคนผลิตในโรงงานแผ่นก็ขอซื้อไว้เอง, คนผิวดำชาวอเมริกาอีเมล์มาขอซื้อไฟล์ไฮเรซ 24/96bit อย่างเพลงของเราที่ลงใน bandcamp เป็นเวปที่รวมเพลงอินดี้ไว้ทั่วโลก เป็นผลทำให้มีผู้กำกับหญิงชาวเยอรมันนำ 2 เพลง (ใจเจ้ากรรม, ฟ้าได้โปรด) ไปประกอบภาพยนตร์, และค่าย Putumayo ค่ายเวิร์ดมิวสิคระดับโลก นำเพลง ทะเลของเรา (อัลบั้มใบชาsongร้องเพลงชาตรี) เป็นเพลงไทยเพลงแรกที่ได้รวมในอัลบั้ม Asian Playground ซึ่งมี 11 ศิลปินจาก 9 ประเทศในแถบเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น, อินโดนีเชีย, อินเดีย, จีน, ฟิลิปปินส์, เกาหลี, มาเลเชีย, ศรีลังกา และไทย เร็วๆนี้ผมยังมีโปรเจคที่ตั้งใจทำเพื่อบุกตลาดโลกอีกด้วย

+ คุณมองการประกวดร้องเพลงที่มีอยู่เกลื่อนกลาดดาษดื่นในปัจจุบัน และบางรายการเรียกเรตติ้งสูงมากเป็นอันดับหนึ่ง มองปรากฏการณ์ตรงนี้อย่างไร

ผมวิเคราะห์ว่าผู้คนในยุคนี้โดยเฉพาะวัยรุ่นต้องการที่จะมีชื่อเสียง ต้องการรายได้ และสิ่งที่ตามมาคือเป็นที่รู้จักมีคนนับหน้าถือตา การประกวดร้องเพลงจึงถือเป็นใบเบิกทางที่ดีสำหรับการนี้ ไม่แพ้การร้องเพลงลงยูทูปซึ่งกลายเป็นอาชีพๆนึงไปแล้ว คนที่ได้ไปออกทีวีในรายการต่างๆบางคนก็ถือว่าดังชั่วข้ามคืน เหตุเพราะเท่าที่เห็นสังคมให้ราคาและยกย่องคนมีชื่อเสียงมากกว่าคนดีหรือมีความสามารถ จึงไม่แปลกที่ผู้คนในยุคนี้ต่างก็พุ่งเข้าหาวิถีทางที่ทำให้ตนมีชื่อเสียงเร็วที่สุด รายการเหล่านี้จึงผลิตออกมากันมากมายแทบทุกช่อง สวนกับวงการเพลงที่ตกต่ำลง และหลายรายการไม่ได้น่าเชื่อถือว่าเป็นการประกวดร้องเพลงจริงๆ เพียงเป็นแค่เกมไว้ดูเพื่อบันเทิงเท่านั้น

+ แน่นอน วงการเพลงเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่รัฐบาลอยากไปให้ถึงไทยแลนด์ 4.0 คุณคิดว่าจะทำอย่างไร และให้ภาครัฐมาช่วยในมุมไหน

ผมคิดว่าไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่จะมาให้ความสนใจในการช่วยพัฒนาวงการเพลงเลย และค่อนข้างแน่ใจว่าในอนาคตก็จะไม่มีเรื่องแบบนี้ด้วย แต่ถ้าจะให้พูดถึงเรื่องที่รัฐควรทำคือ สนับสนุนให้นักดนตรีไทยที่เก่งซึ่งมีอยู่มากมายสามารถไปแข่งในระดับโลก, สนับสนุนบทเพลงที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่ออนุรักษ์ไทยและปลูกฝังให้รักชาติ, การขจัดเวปดาวน์โหลดเถื่อนและร้านจำหน่ายแผ่นละเมิดลิขสิทธิ์ในห้างสรรพสินค้า, เผยแพร่ดนตรีที่มีเอกลักษณ์ผสมผสานความเป็นไทยไปสู่สากล, จัดให้มีดนตรีดีๆตามที่สาธารณะ ฯลฯ

+ คุณมีความหวังกับวงการเพลงไทย และวาดฝันอนาคตไว้อย่างไร เพราะคุณต่อสู้อย่างไม่ยอมแพ้และเป็นตัวจริงเสียงจริงมาตลอด

หวังให้คนฟังเพลงไทยกลับมาสนับสนุนกันด้วยการซื้อแผ่น เพราะน่าจะเป็นทางรอดของศิลปินและค่ายเพลง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้มีคอนเสิร์ตหรือการออกแสดงหารายได้ อยากให้ศิลปินที่มีคุณภาพสร้างงานตัวเองออกมาเรื่อยๆ และอยากให้นักฟังเพลงช่วยกันสนับสนุนผลงานดีๆอย่างเป็นรูปธรรมกันมากขึ้น
อนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดายาก ในส่วนของเราก็คงปรับตัวเท่าที่ทำได้ แต่คงไม่เปลี่ยนการทำงานให้มีคุณภาพ เพียงแต่ต้องระวังการลงทุนมากขึ้น ผมแค่หวังว่าในที่สุดการฟังเพลงคือศิลปะที่คุณต้องสัมผัสได้ ไม่ใช่แค่เปิดฟังเพลงในโทรศัพท์ไม่รู้รายละเอียดของเพลงเลยสักนิด หวั่นใจว่าจิตใจคนจะหยาบขึ้น ไม่ละเอียดอ่อนเหมือนสมัยเก่าที่นั่งอ่านรายละเอียดบนปกเทป ซีดี แผ่นเสียงแล้ว ผมหวังว่าอนาคตของคนเสพศิลปะในบทเพลงจริงๆสิ่งที่จับต้องได้มันก็ต้องกลับมา อาจจะไม่มากแต่ก็จะทำให้คนสร้างเพลงตัวจริงอยู่ได้

+ คุณแบ่งภาคตัวตนในฐานะศิลปินทำเพลงกับนักธุรกิจเจ้าของค่ายเพลงอย่างไร เพื่อมิให้เสียสมดุลในชีวิต ระหว่างความคิดทางศิลปะกับรายได้

ผมแทบไม่ได้แบ่งเลยระหว่างการเป็นศิลปินและผู้บริหาร และดูท่าจะไม่ไปทางผู้บริหารเลยด้วยซ้ำ ผลงานที่อยากทำเราก็ทำตามใจ หลายๆอัลบั้มที่ทำออกมาใครๆก็รู้อยู่ว่าขายยาก ขาดทุนแน่ๆ แค่คิดว่าอยากมีเพลงแบบนี้อยู่ในใบชาsong ส่วนการชักชวนเพื่อนๆมาร่วมทำอัลบั้มก็ปล่อยให้เขามีอิสระเต็มที่ในการสร้างสรรค์ เพราะผมเข้าใจว่ารสมือความคิดคนแต่ละคนนั้นย่อมไม่เหมือนกัน และตรงนี้แหละที่เป็นจุดดีทำให้งานแต่ละชุดมีความแตกต่างอย่างธรรมชาติ เช่น อาบู, สินเจริญ, ขุนอิน แจ๊สออฟสยาม, ลีลาวดีควอเตท หรือ ภาสกร โมระศิลปิน

+ คุณทำแผ่นเสียงของค่ายและอัลบั้มเพลงดีจากอดีตมาจำหน่ายด้วย อยากให้พูดถึงตรงนี้สำหรับคนฟังเพลงคุณภาพ

เราผลิตแผ่นเสียงเป็นเจ้าแรกๆ ปี 2552 กับอัลบั้มต้นฉบับเสียงหวาน (สวีทนุช) ในขณะที่ร้านค้าแผ่นหลักๆยังไม่มีการวางแผ่นเสียงจำหน่ายเลยสักแผ่น จนถึงวันนี้มี 16 อัลบั้มแล้ว และผมยังทำหน้าที่รีมาสเตอร์แผ่นเสียงหลายๆอัลบั้มให้กับร้าน CAP เช่น แกรนด์เอ็กซ์โอ, ภ.มนต์รักลูกทุ่ง, โฟล์คซองคำเมือง, ศรคีรี ศรีประจวบ ฯลฯ ผมก็เลยคิดว่าน่าจะเลือกอัลบั้มที่ชื่นชอบมาผลิตเองบ้าง ประกอบกับมีแฟนเพลงแนะนำให้รู้จักกับนายห้างบริษัทเสียงสยาม จึงมีโอกาสขอลิขสิทธิ์มาสเตอร์อัลบั้มชุดตะวันลับฟ้า (พุ่มพวง ดวงจันทร์) และไอ้หนุ่มรถไถ (สายัณห์ สัญญา) เพื่อมารีมาสเตอร์ เพราะชอบเพลงลูกทุ่งเก่าๆโดยเฉพาะสองชุดนี้ และแผ่นเก่าดั้งเดิมยังมีราคาหลายพันจนถึงเกือบหมื่น ส่วนมากยังมีเสียงรบกวนก๊อปแก๊ปให้รำคาญใจอีกด้วย จึงคิดว่าน่าจะเป็นทางออกให้กับนักฟังนักสะสมอัลบั้มดีๆได้เป็นเจ้าของครับ  

+ มีอะไรฝากถึงคนในวงการเพลงและคนฟังเพลงบ้างครับ

สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือ สำนึกของคนฟัง ที่ปัจจุบันกลายเป็นความคิดที่ว่า เพลงคือของฟรี อยากให้ลองคิดว่าถ้าคุณเป็นเจ้าของกิจการผลิตอะไรออกมา แล้วคนอื่นคิดว่าต้องกินฟรีใช้ฟรีไม่ต้องซื้อของคุณ คุณจะคิดยังไง ความเห็นแก่ตัวของคนในปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเทคโนโลยีทันสมัยแต่ใช้ไม่ถูกทางก็เหมือนทำลายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ว่าจะอาชีพไหนๆก็ตาม แต่ผมในนามใบชาsongก็จะพยายามประคองตัวให้อยู่รอดให้ได้ ด้วยคุณภาพเพลงและคุณภาพเสียงที่ทำได้ คิดว่าทำผลงานให้ดีที่สุดเพื่อคนฟังประทับใจและติดตามอุดหนุนผลงานเราไปตลอด ฝากช่องทางด้วยครับเพราะร้านซีดีเริ่มเหลือน้อยลง www.baichasong.com / line@baichasong /  facebook:baichasong  / youtube:baichasong / www.baichasong.bandcamp.com / 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้