บทวิจารณ์ Grid plays Baichasong - Grid

ดนตรีมีเหตุ: เสียงกีตาร์พลิ้วไหวด้วยปลายนิ้วของ กฤษณ์ บาลไทยสงค์ 
ข่าวบันเทิง หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ /พฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2559 / โดย นพปฎล พลศิลป์ 

กฤษณ์ บาลไทยสงค์ เป็นมือกีตาร์อะคูสติก รุ่นใหม่ที่สร้างชื่อมาจากเวทีประกวดในรายการโอเวอร์ไดรฟ์ คอนเทสต์ ครั้งที่ 8 ซึ่งเขาเป็นมือกีตาร์ฟิงเกอร์สไตล์เพียงคนเดียวที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายใน

รายการนี้ได้ และหลังจากรายการนี้กฤษณ์ก็สร้างชื่อให้โจษจันมากกว่าเดิมด้วยการเป็นคนไทย คนแรกที่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันในงานแคนาเดียน กีตาร์เฟสติวัล เมื่อปี 2557 

โดยเวทีนี้เป็นเวทีสร้างมือกีตาร์รุ่นใหม่ให้วงการดนตรีโลกมากมาย ซึ่งศิลปินที่ผ่านเวทีนี้มาแล้วก็ได้แก่ แอนดี แมคคี, คาลัม เกรแฮม, ดีแลน ไรช, จัสติน เซนต์-ปีแอร์, เทรเวอร์ กอร์ดอน ฮอลล์,

ฟาน ลาร์คินส์ และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะได้เป็นผู้เข้าแข่งขัน เพราะจะมีผู้เข้าแข่งขันไปประชันฝีมือกันที่แคนาดาเพียงแค่ 25 คนเท่านั้น 

เล่ามาถึงขนาดนี้แล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนคงอยากสัมผัสกับฝีมือของหนุ่มไทยรายนี้ว่าจะเด็ดดวงขนาดไหน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายหากเป็นการติดตามชมการแสดงแบบสดๆ แต่ก็มีวิธีที่ง่ายกว่านั้นก็คือ

การฟังจากอัลบั้มชุดแรกในชีวิตของเขา Grid Plays Baichasong ที่เอาบทเพลงของค่ายใบชาซอง 9 เพลง มาเรียบเรียงและเล่นใหม่เป็นเพลงบรรเลงกีตาร์ในสไตล์ของ กฤษณ์ที่ฟังเพลิน รื่นรมย์ตั้งแต่เพลงแรกจนถึงเพลงสุดท้าย 

แม้ตัวเพลงของใบชาซองจะไม่ใช่งานเพลงฮิตติดหู หรือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ก็ไม่เป็นปัญหา แถมยังกลายเป็นข้อดีเสียอีก เพราะไปๆ มาๆ ทำให้การฟังอัลบั้มชุดนี้ไม่ต่างไปจากการฟังอัลบั้มเพลงบรรเลงกีตาร์ในแบบฟิงเกอร์สไตล์ที่แต่งขึ้นมาใหม่ ที่สำคัญต่อให้รู้จักคุ้นหูกับงานต้นฉบับ การเล่นของกฤษณ์ที่นำเสนอตัวเองลงไปในเพลงอย่างเต็มที่ ต่างไปจากอัลบั้มเพลงบรรเลงหลายต่อหลายชุดในบ้านเราที่มักจะคงรูปแบบเดิมๆของเพลงเอาไว้

เหมือนเป็นเพลงบรรเลงที่ถอดเสียงร้องออก แล้วใส่เสียงเครื่องดนตรีหลักลงไป ก็ทำให้อารมณ์และเสน่ห์ของเพลงแตกต่างไปจากเดิมอยู่ดี 

กฤษณ์จะเล่นเสียงเบส, คอร์ด และเมโลดี้ ด้วยกีตาร์ตัวเดียว สอดประสานไปด้วยกัน ไม่ใช่การบันทึกเสียงทีละแทรคแล้วมามิกซ์รวม แล้วก็อาจจะมีการใช้เอฟเฟ็กต์ต่างๆ เข้ามาช่วย

เพื่อสร้างซาวด์แปลกๆที่กลายมาเป็นลักษณะเด่น หรือสร้างอารมณ์เฉพาะเพลงนั้นๆขึ้นมา ซึ่งถือว่าทำได้ดี และทำให้เพลงที่ในภาพรวมแล้วแม้จะเน้นความเป็นงานอีซีลิสนิง ฟังสบายๆ รื่นรมย์เป็นหลัก

มีอารมณ์ มีความแตกต่าง มีเรื่องราวของตัวเองในแต่ละเพลง บางเพลงอาจจะฟังเศร้าๆ ซึมๆ เช่น "มันไม่ง่าย" ที่เสียงเอฟเฟ็กต์มาช่วยสร้างบรรยากาศหม่นๆ ได้เป็นอย่างดี บางเพลงก็ฟังรื่นรมย์อย่าง

"งานประจำ" ส่วน "ค้างคาว" ก็คึกคัก ชวนเคาะมือเคาะเท้าได้เป็นอย่างดี แต่ที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ของอัลบั้มก็คือ "อย่ากลัว" ที่ตัวเพลงฟังรุกเร้า เคร่งขรึม ฮึกเหิม และดูจริงจังกว่าเพลงอื่นๆ

ขณะที่ทางดนตรีก็มีลักษณะของงานในแบบโปรเกรสซีฟ การเล่นของกฤษณ์ก็มาเต็ม จัดหนัก ทั้งตบ ดีด ทึ้งสายอย่างสนุกสนาน ก่อนที่จะปิดท้ายด้วย "ดาวโลกมองพระจันทร์" เพลงที่เล่นออกมาได้ 'น่ารัก' เอาเรื่อง 

หลายๆ คนอาจจะฟังงานชุดนี้แล้วนึกถึงงานของทอมมี เอ็มมานูเอล ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะมือกีตาร์รายนี้ได้มีโอกาสขึ้นเล่นโชว์ในคอนเสิร์ตของทอมมี เอ็มมานูเอล อยู่หลายครั้ง

และทอมมีก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับกฤษณ์ในการเล่นกีตาร์แบบฟิงเกอร์ สไตล์ 

กับการบันทึกเสียง ที่งานอะคูสติกแบบนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ (จริงๆ ก็สำคัญหมดแหละ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า หรือว่าอะคูสติก) เสียงเบสอาจจะฟังบวมๆ ไปนิด

แต่ถ้าเป็นคนที่ถูกจริตกับซาวด์ในแบบนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และต่อให้ไม่ชอบกับซาวด์ที่ออกมา ก็ให้อารมณ์แบบงานเล่นสดที่สัมผัสได้ถึงอารมณ์อย่างเต็มที่ ที่ไม่ยากเลยกับการมองข้ามเรื่องตรงนี้ไป 
*********************

WaveMag./march2016

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้