บทวิจารณ์ ‘เดอะ ไทย บีเทิลส์’ (The THAI Beatles) ลางเนื้อชอบลางยา โดย พอล เฮง

+ ‘เดอะ ไทย บีเทิลส์’ (The THAI Beatles) โดย พอล เฮง 
ลางเนื้อชอบลางยา (ตอน 1)
.
10 ปี หรือ 1 ทศวรรษแห่งความมหัศจรรย์ที่เปลี่ยนแปลงดนตรีสมัยนิยมไปอย่างสิ้นเชิง
.
การสถาปนาดนตรียอดนิยมในระดับปรากฏการณ์คลั่งไคล้ไปจนถึงความบ้าคลั่งระดับสูงสุดของวัยรุ่นหนุ่มสาวในยุคครึ่งศตวรรษที่แล้ว หรือ 50 ปีเต็ม
.
หากนับเอาปี 1970 (พ.ศ.2513) เป็นการยุบและสลายคณะดนตรี​ ต่างแยกทางไปตามความต่างในวิถีทางของตัวเองของสมาชิกแต่ละคน
.
คงไม่ต้องเท้าความหรือเชิดชูยกย่องประกาศก้องถึงความดีเด่นและเป็นตำนานของคณะดนตรี เดอะ บีเทิลส์ (the Beatles) กันอีกให้มากมาย
.
เพราะเท่าที่ผ่านมา​ สามารถไปค้นคว้าหาอ่านหรือฟังบทเพลงและดนตรีของพวกเขา​ ก็น่าจะกำซาบดำดิ่งได้เป็นอย่างดี
.
จอห์น เลนนอน (John Lennon) ร้อง, ริธึมและลีด กีตาร์, คีย์บอร์ด และฮาร์โมนิกา
.
พอล แมคคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) ร้อง, เบส กีตาร์ และคีย์บอร์ด
.
จอร์จ แฮรืริสัน (George Harrison) ลีดและริธึม กีตาร์, ร้อง, ซีตาร์ และคีย์บอร์ด
.
ริงโก สตารร์ (Ringo Starr) กลอง, เครื่องเคาหรือเพอร์คัสชัน และร้อง
.
นอกจากการเป็นไอดอลหรือขวัญใจของคนร่วมสมัยในยุคเดียวกัน และเป็นไอคอนจำหลักของยุคสมัยที่อยู่เหนือกาลเวลาข้ามรุ่นต่อรุ่นอย่างมิมีที่สิ้นสุด
.
ในฐานะผู้บุกเบิกและเป็นเทรนด์ เซ็ตเตอร์ ของการรังสรรค์ดนตรียอดนิยมในระดับที่มากมายมหาศาลเปลี่ยนรสนิยมการฟังเพลงและพฤติกรรมขบถต่อสังคมในแบบพลังกลืนกลาย (Solf Power) ไปสู่วัยรุ่นทั่วทั้งโลกแล้ว
.
ดนตรีและแฟชันแบบเดอะ บีเทิลส์ ก็ยังมีเสน่ห์มนต์ขลังอย่างไม่เสื่อมคลาย
.
เหมือนโดนสะกดจิต ไม่ว่าผ่านวันเวลาและการเกิดตายของดนตรีอีกมากมายผ่านพ้นไปไม่หวนคืน แต่ดนตรีและบทเพลงของ เดอะ บีเทิลส์ ก็ยังคงอยู่​ มีความเป็นหนุ่มสาวอยู่เสมอ
.
ความผูกโยงและเกี่ยวข้องกับแฟนเพลงคนไทย คงเหมือนกับการไหลบ่าของศิลปะและวัฒนธรรมสมัยใหม่ผ่านวาทกรรมความทันสมัยจากตะวันตกที่โหมโถมเข้ามา
.
ในการเสพฟังเพลงที่ดูล้ำและมีความเป็นฮิปสเตอร์ที่แหวกแปลกออกไปในยุค 50-60 ปีที่แล้ว
.
การมาถึงของ เดอะ บีเทิลส์ เป็นคำตอบที่เป็นรูปธรรม
.
แต่ความยิ่งใหญ่ของความเป็นขบถ การรังสรรค์สิ่งใหม่ที่ฉีกไปจากสิ่งที่มีอยู่เดิมในการสร้าง​ 'นวดนตรี'​ตัวแทนของความเป็นสมัยใหม่ของพวกเขา ทำให้โลกดนตรีและโลกทัศน์ของคนฟังเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
.
และมีอิทธิพลอย่างแข็งแกร่งหนักแน่นเป็นรากฐานมาสู่ดนตรีสมัยนิยมที่แฝงฝังความนิยมในมูลค่ามหาศาลในอุตสาหกรรมดนตรีให้กับคนดนตรีรุ่นต่อมาอย่างมิมีที่สิ้นสุด
.
เมื่อพลิกแฟ้มค้นหาข้อมูลถึงคณะดนตรี เดอะ บีเทิลส์ ที่เฉียดกรายผูกโยงกับเมืองไทยมากที่สุด
.
นอกจากดนตรีของพวกเขาแล้วนั้น มีปรากฏการณ์ที่ถูกบันทึกไว้
.
ข้อมูลจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก The Beatles Thailand ที่โพสต์สถานะหรือสเตตัสไว้เมื่อ 6 ปีที่แล้วคือ วันที่ 3 มิถุนายน 2014 ทั้งเรื่องและรูปชี้ชัดว่า
.
ในวันที่ 7 มิถุนายน ปี 1964 (พ.ศ.2507) เครื่องบินที่คณะดนตรีเดอะ บีเทิลส์ โดยสารมาด้วย มาแวะเติมน้ำมันที่สนามบินแห่งชาติและทันสมัยสุดของประเทศไทยในเวลานั้นคือ สนามบินหรือท่าอากาศยานดอนเมือง ก่อนที่จะบินตรงไปเล่นคอนเสิร์ตที่ฮ่องกง
.
โปรแกรมการบินยาว จากกรุงอัมเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ไปที่ฮ่องกง ได้แวะเติมน้ำมันตามเมืองใหญ่ๆ อาทิเช่น เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน, นครการาจี ประเทศปากีสถาน, นครกัลกัตตา ประเทศ อินเดีย และกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
.
ครั้งนั้นมีสมาชิกแค่ จอห์น เลนนอน, พอล แมคคาร์ตนีย์ และ จอร์จ แฮร์ริสัน เท่านั้น
.
ส่วนริงโก สตารร์ นั้นไม่ได้มาด้วย เนื่องจากป่วยเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ และรักษาตัวที่โรงพยาบาลลอนดอน
.
ทางคณะดนตรี เดอะ บีเทิลส์ ก็ใช้มือกลองที่ชื่อ จิมมี นิโคล (Jimmy Nicol) มาช่วยแสดงแทนชั่วคราว
.
พอเครื่องบินร่อนลงจอดที่ท่าอากาศยานดอนเมืองก็มีแฟนเพลงไปดักรอ สมาชิกคณะดนตรี เดอะ บีเทิลส์ ก็เพียงแค่ออกมาแจกลายเซ็นต์ และรับของที่ระลึกตรงบันไดเครื่อง ก่อนที่จะต้องถอยกลับขึ้นเครื่องไป
.
คณะดนตรี เดอะ บีเทิลส์ เดินทางมาถึงสนามบินไคตัก (Kai Tak) ที่เกาะเกาลูน ฮ่องกง ในเช้าวันที่ 8 มิถุนายน 1964 โดยมีแฟนเพลงมารอต้อนรับเป็นจำนวนมาก
.
หลังจากความเหนื่อยล้าตลอด 24 ชั่วโมง ที่นั่งเครื่องบินมาอย่างยาวเหยียด สมาชิกคณะดนตรี เดอะ บีเทิลส์ปฏิเสธที่จะไปร่วมงานประกวดมิสฮ่องกง ตามกำหนดการที่วางไว้
.
แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจไปร่วมงาน เพราะว่าพวกเขามีการแถลงข่าวในโรงแรมเพรสซิเดนต์ ซึ่งเป็นโรงแรมที่ใช้จัดงานพอดี
.
ในงานนี้ 2 ดาราสาวไทยในยุคนั้น คือ บุศรา นฤมิตร (เป็นนางเอกคู่กรรมเวอรชันโทรทัศน์ปี 2513) ส่วนอีกคน อัญชุลี อนันตกุล (เป็นดาราภาพยนตร์รุ่นเดียวกับ มิตรชัย บัญชา) ทั้งสองถูกเชิญไปในฐานะตัวแทนดาราจากไทยให้เข้าร่วมงานนี้ โดยดิสค์ จ๊อกกี หรือดีเจบ๊อบ โรเจอร์ (DJ Bob Roger) ดีเจชื่อดังจากประเทศออสเตรเลีย ได้แนะนำสมาชิกคณะดนตรี เดอะ บีเทิลส์ ให้รู้จักและพบกับดาราสาวไทยทั้งสองคน
.
อีกครั้งที่เครื่องบินซึ่งคณะดนตรีเดอะ บีเทิลส์ ลงจอดแวะเติมน้ำมันที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ในวันที่ 5 กรกฎาคม ปี 1966 (พ.ศ.2509) โดยสมาชิกทั้ง 4 คน อยู่บนเครื่องบินโดยไม่มีการเคลื่อนไหวหรือออกมาที่บันไดอย่างคราวก่อน
.
พวกเขาบินออกมาจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ หลังเสร็จสิ้นการแสดงคอนเสิร์ต 2 รอบเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1966 ในกรุงมะนิลา ซึ่งมีผู้เข้าชมรวมกันมากถึง 75,000 คน
.
รายงานข่าวของนิวยอร์กไทม์บอกว่า ขณะที่ชาวคณะ เดอะ บีเทิลส์ กำลังจะเดินทางออกจากฟิลิปปินส์ว่า มีผู้โดยสาร นักข่าว เจ้าหน้าที่สนามบิน และบุคคลอื่นๆ ราว 50 คน เข้ามารุมตะโกนด่าพวกเขาขณะที่พวกเขากำลังกรอกเอกสาร
.
เนื่องจากคณะดนตรี เดอะ บีเทิลส์ ปฏิเสธคำเชิญของนางอีเมลดา มาร์กอส (Imelda Marcos) สตรีหมายเลขหนึ่งของฟิลิปปินส์ ภรรยาประธานนาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) ผู้นำฟิลิปปินส์ในขณะนั้น เพื่อให้มาร่วมกินอาหารเช้าที่ทำเนียบประธานาธิบดีพร้อมกับเด็กๆ อีก 300 คน
.
นั่นคือบันทึกเหตุการณ์ที่สมาชิกคณะดนตรี เดอะ บีเทิลส์ มาถึงเมืองไทย​ 2​ ครั้ง แค่ท่าอากาศยานดอนเมือง แต่ไม่เคยเดินย่างเหยียบแผ่นดินไทย
.
เพราะฉะนั้น เดอะ บีเทิลส์ ซึ่งเป็นคณะดนตรียอดนิยมที่อยู่ในระดับอภิอมตะนิรันดร์กาลกับคนไทยและเมืองไทย จึงไกลห่างกันเหลือเกิน มีแต่ดนตรีและบทเพลงที่แทรกซึมอยู่ในทุกอณูโสตเพียงเท่านั้น
.
ในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว 2019 (พ.ศ.2562) บทเพลงของเดอะ บีเทิลส์ กับคนไทยกลับมาใกล้ชิดแทรกซึมเป็นเนื้อเดียวกัน ผ่านอัลบั้ม ‘เดอะ ไทย บีเทิลส์’ (The THAI Beatles) ของค่ายใบชาซอง ซึ่งเป็นการคัดเลือกและตีความเพลงของ เดอะ บีเทิลส์ มาเป็นสำเนียงไทยด้วยกัน 10 บทเพลงพร้อมเพลงเปิดม่านสั้นๆ อีก 1 เพลง
.
สีสันดนตรีความคิดสร้างสรรค์ของอัลบั้มชุดนี้เป็นอย่างไร? คงต้องมาว่ากันยาวๆ
.
>>>>>>>>>>}}}}}}}}}}{{{{{{{{{<<<<<<<<<
ลางเนื้อชอบลางยา (ตอน 2)

ด้วยการเปิดม่านมหรสพดนตรี เดอะ ไทย บีเทิลส์ สั้นๆ แค่ 36 วินาที
.
จากเสียงแคนและขลุ่ยที่แผดจ้าท้าทายเร้าอารมณ์ พร้อมด้วยเสียงโฆษกสาวเสียงแสนเสน่ห์อันเป็นที่จดจำ ของ สวีทนุช หรือมีนามจริงว่า วรนุช กนกากร
.
นับได้ว่าสรุปหมดจดได้ถึงความคิดแบบไทยๆ ในอัลบั้มชุดนี้
.
นั่นคือ สวีทนุช คือคุณแม่ยายของ บรรณ สุวรรณโณชิน เจ้าของโปรเจ็คต์ ผู้เรียบเรียง และ ดูแลการผลิต (Arranger & Producer) ของอัลบั้ม ‘เดอะ ไทย บีเทิลส์’ (The THAI Beatles) ชุดนี้
.
ที่สำคัญที่สุดเธอเป็น ‘แม่ย่านาง’ ของค่ายใบชาซอง ทั้งทุนทรัพย์และอื่นๆ และอัลบั้ม ‘ต้นฉบับเสียงหวาน’ ของเธอ มีบทเพลง ‘รักยุคไฮเทค’ เป็นบทเพลงยอดนิยมในปี 2551 และได้รับการกล่าวถึงในฐานะนักร้องเสียงกังวานใสแบบลูกกรุงที่สามารถนำมาผสมผสานกับดนตรีและคำร้องในแบบดนตรีพ๊อพสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว
.
จากยอดขายและความโด่งดังอัลบั้มชุดนี้ทำให้ค่ายใบชาซองฟื้นตัวและสามารถผลิตงานเพลงอัลบั้มต่างๆ ลงสู่ตลาดเพลงร่วมสมัยของไทยได้จนถึงทุกวันนี้
.
เพราะฉะนั้นการเอาสวีทนุชมากล่าวเปิดม่านจึงเป็นศิริมงคลแบบไทยๆ ที่เข้าใจได้ และถูกต้องตามครรลองในเรื่องความเชื่อและศรัทธาถึงผู้อาวุโสที่มีพระคุณและเป็นเคารพรักของเจ้าของผู้คิดค้นอัลบั้มชุดนี้ขึ้นมา
.
นี่คือความเป็นไทยแรกที่ปรากฏออกมาอย่างแจ่มชัดในเรื่องกลิ่นรสในตัวดนตรีและความรู้สึก และเรียกขวัญกำลังใจได้ดีทีเดียว
.
อย่างที่บอก บทเพลงของ เดอะ บีเทิลส์ (the Beatles) นั้น อยู่บนหิ้งและมีความเป็นอภิมหาอมตะนิรันดร์ระดับตำนานในการรังสรรค์ดนตรีและสร้างปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมยอดนิยมขึ้นมา ในแบบภาษาปัจจุบันเรียกว่า ‘ดิสรัปชัน’ (Disruption) ทำให้ของเก่าหรือดนตรีแบบเก่าก่อนหยุดชะงักและปฏิรูปไปสู่สิ่งใหม่อย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เปลี่ยนผ่านอย่างเด็ดขาดสู่คนอีกรุ่นอย่างไม่มองกลับหลัง
.
การหยิบมาคอฟเวอร์ใหม่ให้มีกลิ่นอายรูปแบบของการฟิวชั่นหรือหลอมรวมกลิ่นรสในแบบดนตรีแนวร่วมสมัยรสชาติประเพณีนิยมดั้งเดิมแบบไทยหรือสยาม จึงเป็นความกล้าหาญและท้ายทายเป็นยิ่งยวด
.
เพราะสิ่งหนึ่งที่การันตีลงไปได้ก็คือ​ ไม่มีทางดีกว่าบทเพลงต้นฉบับของ เดอะ บีเทิลส์ อย่างแน่นอน
.
คนฟังที่จะฟังอัลบั้มชุดนี้ต้องเปิดใจกว้างและยอมรับตรงจุดนี้ให้ถ่องแท้เสียก่อน จึงจะฟังได้อย่างสนุกลุกนั่งสบาย
.
การทำอัลบั้มชุดนี้ ‘เดอะ ไทย บีเทิลส์’ (The THAI Beatles) ต้องกับจริตและความซนขี้เล่นของ บรรณ สุวรรณโณชิน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งดูได้จากอัลบั้มต่างๆ ส่วนหนึ่งที่เขาทำในนามค่ายใบชาซอง งานแนวทดลองแฝงอารมณ์สนุก ดูเหมือนทีเล่นทีจริงแต่เข้มข้นด้วยคุณภาพในมาตรฐานของเขาเอง
.
ในรอบ 50 ปี หรือผันผ่านครึ่งศตวรรษมีการคัฟเวอร์บทเพลงของ เดอะบีเทิลส์ มากมายทั่วโลก​ รวมถึงวงเลียนอย่าง และวงที่รับอิทธิพลทางดนตรีที่ต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่มีมากมายมหาศาล
.
การซื้อลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของค่ายใบชาซอง จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และถือเป็นการคารวะคณะดนตรีที่เคารพในฝีมือและมันสมองในอีกโสตหนึ่งไปในตัวด้วย
.
ทุกอย่างจึงโปร่งใสไม่มีข้อขัดข้องให้หมองใจสำหรับ บีเทิส์มาเนีย นี่คือการทำงานด้วยการคารวะจากใจ ดีหรือไม่ดี ถูกใจหรือไม่ถูกใจก็เป็นเรื่องรสนิยมของปัจเจกบุคคล แต่ด้วยหลักการและมาตรฐานที่พึงมีทุกอย่างหมดจดครบกระบวนความ
.
ยิ่งความคิดสร้างสรรค์ในการทำปกและแพคเกจจิงหรือบรรจุภัณฑ์ ก็เห็นถึงความใส่ใจและใส่จิตวิญญาณ เดอะบีเทิลส์ แบบไทยๆ ลงไปอย่างน่าพึงใจเลยทีเดียว
.
โดยเฉพาะไอเดียภาพปกและภาพที่ปรากฏด้านใน ฝีมือของ สิปปนนท์ สามไชย ซึ่งเป็นนายแพทย์ในฐานะจิตรกรอีกบทบาทหนึ่ง
.
ตีความ เดอะ ไทย บีเทิลส์ ได้อย่างน่าทึ่งในรูปแบบอิลาสเตรตหรือภาพที่ใช้อธิบายความได้หมดจดโดยเฉพาะลายเส้นและสัญลักษณ์ไทยทันสมัยที่กลืนกับความร่วมสมัยแบบประเพณีนิยมแบบสนุก ไม่เครียดหรือเคร่งครัดในการตีความจนเกินเลย
.
ทั้งหมดเป็นแค่วงโคจรรอบนอกของอัลบั้มชุดนี้ ตอนต่อไปมาลงกันถึงบทเพลงในอัลบั้ม ‘เดอะ ไทย บีเทิลส์’ (The THAI Beatles) ทั้ง 10 บทเพลง ว่ากันไปทีละเพลง
.
>>>>>>>>>>}}}}}}}}}}{{{{{{{{{<<<<<<<<<
.
ลางเนื้อชอบลางยา (ตอน 3)
[เบิกโรง]
.
ภาพรวมของอัลบั้ม ‘เดอะ ไทย บีเทิลส์’ (The THAI Beatles) นั้น อาจจะไม่เป็นที่ดึงดูดใจมากนัก เมื่อดูจากรายชื่อของนักร้องและนักดนตรีทั้งหมด
.
รวมถึงรสนิยมแบบปัจเจกในการเลือกเพลงที่ผ่านคนๆ เดียวในฐานะเจ้าของค่ายเพลงและโปรดิวเซอร์ทำงานในอัลบั้มทั้งหมด
.
ตรงนี้กลับไม่ใช่ปัญหา...
.
บทเพลงของ เดอะบีเทิลส์ จากต้นฉบับโดยส่วนมากมีความดีเลิศก้าวผ่านยุคสมัยมาครึ่งศตวรรษไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นหยิบเพลงไหนมาไม่ใช่เรื่องที่กังวล เพราะล้วนผ่านการตีความและรู้จักกันถ้วนทั่ว รวมถึงมีการทำใหม่คอฟเวอร์กันมามากมายหลายแบบฉบับหรือเวอร์ชัน
.
ท่วงทำนอง คำร้อง การโซโล่กีตาร์กรีดใจท้ายเพลงวนอยู่ในหัวของแฟนเพลงอย่างถ้วนทั่ว แม้ไม่ใช่แฟนพันธุ์ก็ต้องผ่านหูมาไม่มากก็น้อย เพราะถือเป็นรสนิยมสาธารณ์ที่เป็นจำหลักของยุคสมัย
.
'Come Together' บรรณ สุวรรณโณชิน เลือกมาเป็นเพลงเบิกโรง ได้ เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ นักร้องชายสายประกวด เดอะ วอยซ์ (the Voice) ซึ่งสามารถมีที่อยู่ที่ยืนในวงการด้วยสไตล์การร้องเพลงที่ลักษณะของไทยประเพณีนิยมในดนตรีพ๊อพร๊อคร่วมสมัยได้อย่างมีบุคลิกพิเศษของตัวเองได้ดีในระดับน่าชื่นชม
.
ก่อนจะกล่าวถึงบทเพลงนี้ที่คอฟเวอร์มาร้องในดนตรีที่รังสรรค์ตีความอารมณ์บรรยากาศไทยร่วมสมัย มาดูต้นทางรากเหง้าของบทเพลงนี้ที่มีอายุ 50 ปีเต็มเข้าไปแล้ว
.
'Come Together' เป็นบทเพลงเปิดอัลบั้ม วางเป็นเพลงแรกในสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 11 'Abbey Road' ของคณะดนตรี เดอะ บีเทิลส์ (The Beatles) ที่ออกมาในปี 1969 (พ.ศ.2512)
.
- จอห์น เลนนอน (John Lennon) เล่นริธึม กีตาร์ และเปียโนไฟฟ้า ร้องนำ
- พอล แมคคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) เล่นเบสกีตาร์
- จอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison) ลีดกีตาร์
- ริงโก สตาร์ร (Ringo Starr) เล่นกลอง
.
โปรดิวซ์โดย จอร์จ มาร์ติน (George Martin) บันทึกเสียงช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ปี 1969 ที่สตูดิโอแอ็บบี โรด (Abbey Road) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
.
บทเพลงนี้ได้รับรางวัลแกรมมี สาขาวิศวกรรมบันทึกเสียงยอดเยี่ยม ในปี 1969
.
นิตยสารโรลลิง สโตน (Rolling Stone) นิตยสารดนตรีเก่าแก่ที่ทรงอิทธิพลของอเมริกา จัดให้บทเพลง 'Come Together' อยู่ที่อันดับ 202 ใน 500 บทเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล และอันดับที่ 9 ใน 100 บทเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเดอะ บีเทิลส์
.
ซิงเกิล 'Come Together' ออกมาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี 1969 ในอเมริกา ติดอยู่ในชาร์ตฮอต 100 ของบิลบอร์ดทั้งหมด 16 สัปดาห์ สามารถขึ้นถึงอันดับ 1 ได้ และมาออกในสหราชอาณาจักร ในวันที่ 31 ตุลาคม ปีเดียวกัน ขึ้นสูงสุดเพียงอันดับ 4
.
นอกจากนี้ บทเพลงนี้ที่มีการบันทึกเสียงเทคแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ปี 1969 ซึ่งมีเนื้อร้องซึ่งแตกต่างออกไปเล็กน้อย ได้ถูกนำออกมาเผยแพร่ในปี 1996 (พ.ศ.2539) ในอัลบั้มรวมเพลงคัดออกของเดอะ บีเทิลส์ 'Anthology 3'
.
ในความเป็นจริงแล้ว 'Come Together' เป็นส่วนขยายมาจาก 'Let's Get It Together' บทเพลงดั้งเดิมที่เขียนโดย จอห์น เลนนอน ซึ่งแต่งให้กับว่าที่ผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ทิโมธี แลรีย์ (Timothy Leary) ในการรณรงค์ต่อต้านผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียในขณะนั้น ซึ่งก็คือ โรนัลด์ รีแกน (Ronald Reagan) ต่อมารีแกนได้กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
.
ทิโมธี แลรีย์ เป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ด เขาสนับสนุนยาที่ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน (Psychedelic Drugs) เพราะเชื่อว่าทำให้ผู้รับยามีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปได้ และยังมีส่วนช่วยขยายความสามารถในการรับรู้ทางจิตของมนุษย์ได้อีกด้วย
.
เขาได้ทดลองให้แอลเอสดี (Lysergic Acid Diethylamide, LSD) กับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งยังเอายาไปเผื่อแผ่ให้กับศิลปิน นักเขียน นักดนตรี โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาถึงผลกระทบทางด้านวัฒนธรรมและปรัชญา สืบเนื่องจากการใช้ยาเสพติดจำพวกนี้ ทั้งยังเห็นว่าควรเผยแพร่ยาออกไปสู่สาธารณะโดยเฉพาะกับเยาวชน
.
การสนับสนุนวิถีทางของไซเคเดลิค ซึ่งให้ใช้แอลเอสดี สารเสพติดที่ให้ความสุข อารมณ์ดี รู้สึกคึกคัก มีอาการประสาทหลอน และรู้จักกันแพร่หลายผ่านปรัชญาหลุดพ้นของฮิปปี้หรือบุปผาชน ทูน อิน, เทิร์น ออน, ดร็อป เอาต์ (tune in, turn on, drop out)
.
turn on ก็คือการเปิดรับเพื่อปลดล็อกระดับการรับรู้ทางจิต ซึ่งยาหลอนประสาทก็เป็นตัวหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นได้
.
tune in หมายถึงการตอบรับให้สอดคล้องกับโลกรอบ ๆ ตัว
.
drop out ก็คือการเลือกที่จะตัดขาดจากความผูกมัดต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจ หรือจากใต้จิตสำนึก
.
ในปี 1970 (พ.ศ.2513) ที่ ทิโมธี แลรีย์ ประกาศจะลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ แคลิฟอร์เนีย เขาก็ถูกศาลแคลิฟอร์เนียและเท็กซัสพิพากษาจำคุกจากความผิดฐานมีกัญชาในครอบครองคดีละ 10 ปีต่อเนื่องกัน ความหวังที่จะเป็นนักการเมืองของเขาจึงเป็นหมันไป
.
สำหรับเค้าโครงร่างของบทเพลง 'Come Together' ที่แต่งเนื้อร้องขึ้นหยาบๆ นั้น เขียนโดย จอห์น เลนนอนกับ โยโกะโอะโนะ (Yoko Ono) ตอนที่ทั้งคู่นอนอยู่บนเตียงในการรณรงค์นอนเพื่อสันติภาที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา
.
จอร์จ มาร์ติน (George Martin) โปรดิวเซอร์หรือผู้อำนวยการผลิตของบทเพลงนี้บอกว่า เป็นบทเพลงที่เรียบง่าย แต่ที่มันโดดเด่นขึ้นมา เพราะการแสดงเล่นดนตรีที่ฉลาดหลักแหลมเปี่ยมไปด้วยทักษะความสามารถและลูกเล่น
.
รสนิยมของ บรรณ สุวรรณโณชิน ในการเลือกดนตรีของเขานั้นค่อนข้างเรโทรแบบวงกว้าง หมายถึงมีกลิ่นของดนตรียอดนิยมติดหูในอดีต ยุคที่เขาเติบโตมาคือ ยุคทศวรรษที่ 2520-2530 เขานำเสียงหรือซาวด์ย้อนยุคของดนตรีไทยสากลและลูกทุ่งร่วมสมัย และเสียงของดนตรีไทยพื้นถิ่น มาขมวดผูกลงบนท่วงทำนองและเสียงประสานที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้วของบทเพลงเดอะ บีเทิลส์
.
ข้อน่าสังเกตคือ การคอฟเวอร์บทเพลงมีลักษณะพันทางคือ ไฮบริด (Hybrid) หรือลูกผสมที่เอามาเขย่ารวมกันไม่มุ่งทิศจำเพาะไปในทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน
.
อย่างในบทเพลงนี้ ‘Come Together’ ลายแคนอีสานถูกใช้ในการขับเคลื่อนท่วงทำนองหลักนำทางดนตรีอื่นๆ ทว่าวิธีการร้องของ เก่ง-ธชย ที่ดีไซน์หรืออกแบบให้ร้องออกโขนตามที่เขาถนัด กลับเข้ากันสมานตัวร่วมอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะทางร้องของโขนเป็นดนตรีราชสำนักแบบไทยภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สืบทอดราชประเพณีกันมา
.
ว่าไปแล้ว โขนมีบทร้องซึ่งเป็นการร้องกลอนบทละคร ใช้สำหรับแสดงโขนโรงในและโขนฉากเท่านั้น
.
การร้องเพลงประกอบการแสดงโขน ถ้อยคำที่ร้องเป็นบทกวีประเภทที่เรียกว่า กลอนบทละคร การแสดงโขนที่มีร้องเพลงประกอบก็เพิ่งมีขึ้นเมื่อตอนที่โขนได้ผสมกับละครใน
.
นักร้องแบ่งออกเป็น 2 พวกคือ ต้นเสียงและลูกคู่ ต้นเสียงทำหน้าที่ร้องขึ้นต้นบทและร้องเดี่ยวไปจนหมดวรรคแรกของคำกลอน วรรคที่ 2 เป็นหน้าที่ของลูกคู่ที่จะต้องร้องต่อไปในระหว่างที่ลูกคู่ร้อง คนต้นเสียงก็สดับฟังบทร้องจากคนบอกบทเพื่อที่จะร้องต่อไป
.
การร้องเพลงของต้นเสียงในการแสดงโขนนี้ นอกจากร้องเพลงได้ถูกต้องแม่นยำแล้ว ยังจะต้องรู้ทีท่าของตัวโขนว่าควรจะร้องจังหวะช้าหรือเร็วเพียงใด และยังจะต้องใส่ความรู้สึกเข้าไปในบทที่ร้อง
.
เมื่อมองให้ลึกลงไปการร้องโขนแบบกลอนละครก็คือ การปฏิรูปโขนแบบอนุรักษ์นิยมให้เคลื่อนไปข้างหน้าด้วยการประสมประสานพันทางแบบละครในเข้าไป เก่ง-ธชย ได้เค้นบีบอารมณ์แบบกระชากการร้องของโขนและการเอื้อนที่ประยุกต์ใหม่สู่โหมดคำร้องของเดอะบีเทิลส์ ได้อย่างเข้าท่า เป็นความย้อนแย้งที่หลอมรวมกับดนตรีอีสานและไทยเดิมประเพณีนิยมส่วนกลางได้อย่างไม่น่าเชื่อ
.
ทำให้ ‘Come Together’ มีกลิ่นรสที่เฉพาะตัวไม่อนุรักษ์นิยมแบบไทยประเพณี ไม่เป็นเวิร์ลบีท แบบดนตรีเวิร์ลมิวสิค ไม่เป็นการคอฟเวอร์ที่เถรตรง แต่มีเสน่ห์แบบประหลาด หรือไพรัช (Exotic) ฝรั่งก็ไม่ใช่ พื้นถิ่นแบบไทยนิยมก็ไม่เชิง
.
ผิดสีผิดกลิ่น ทว่าลงตัวฟังสนุกมีรูปลักษณ์เฉพาะตัวภายใต้เพลงที่ติดหูติดปากอยู่แล้ว
.
เรียกว่าเพลงแรกในอัลบั้มก็เบิกโรงอย่างน่าสนใจ..

>>>>>>>>>>}}}}}}}}}}{{{{{{{{{<<<<<<<<<

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้