บทวิจารณ์ ใบชาsongร้องเพลงชาตรี

ใบชาซองร้องเพลงของชาตรี(ดีมากๆ) / 31 พฤษภาคม 2554 โดย ต่อพงษ์ / manageronline
   ช่วงปีสองปีนี้กระแสการเอาเพลงของวงเก่าๆ มาร้องและทำดนตรีให้ร่วมสมัย,uมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเพราะช่วงหลังๆ คนเขียนเนื้อและทำนองชักจะวนอยู่ในอ่าง (ไม่ได้หมายถึงอ่างสไตล์ชูวิทย์หรือของรัฐมนตรีท่านหนึ่งนะครับ)
    หรือไม่ก็เป็นการเอาใจแฟนเพลงรุ่นลุง เนื่องจากเพลงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีอายุเกิน 20 ปีทั้งสิ้น ซึ่งกลุ่มคนฟังกลุ่มนี้แม้อายุจะมาก แต่ความรักและภักดีต่อศิลปินรุ่นนั้นยังไม่เสื่อมคลาย ไม่ฉาบฉวยรักง่ายหน่ายเร็ว ( ความรักของคนแก่มักจะมีกำลังซื้อเสมอๆ...ดูเรยาเป็นตัวอย่างซิฮับ) งานเหล่านี้ออกมาก็เลยถูกตามเก็บเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เก็บแล้วรู้สึกดีหรือไม่ดีด้วยนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง อันนี้เป็นเรื่องความพอใจและรสนิยมส่วนตัวของผู้ที่จะต้องจ่ายนะครับ  
    ผมเคยเขียนไว้ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อตอนพูดถึงการนำเพลงของ “กรวิก” ที่วงดนตรีรุ่นใหม่วงหนึ่งมาทำใหม่ว่า ปัญหาของการทำอัลบั้มแบบนี้คือ ทำอย่างไรให้อารมณ์เพลง แนวดนตรี ไปจนกระทั่งการเลือกเสียงร้องมาขับเพลงเก่าๆ นั้นให้ได้ฟีลลิ่งแบบเดิม ชนิดคนฟังเก่าที่เขาจดจารพลงเหล่านี้ไว้ในวิญญาณแล้วสามารถที่จะพอใจหรือรับ ได้ หรือเอาไปเปรียบกับวงต้นฉบับแล้วรู้สึกว่า คนรุ่นใหม่ทำออกมาด้วยความรักและเคารพต่อวงดนตรีต้นฉบับเหล่านั้น
    ถ้าการรวบรวมเพลงของกรวิกมาทำใหม่ในครั้งโน้นที่เคยเขียนถึงได้ 5 เต็ม 10 งานที่ชื่อว่า “ใบชาร้องเพลงชาตรี” ที่อยากจะแนะนำต่อไปนี้ผมให้ถึง 8.5 คะแนนกันเลยทีเดียว และสิ่งที่ขาดหายไปไม่ใช่ความด้อยคุณภาพ แต่เป็นเพราะเขาคัดเลือกเพลงมาได้ยังไม่โดนใจผมเต็มร้อยต่างหาก
    อย่างที่บอกครับว่า ความพอใจแบบนี้มันเป็นเรื่องของคนซื้อโดยแท้
    แต่ถ้าตัดเรื่องของการคัดเลือกเพลงที่ว่าออกไป งานนี้โดดเด่นและดีเด่นเท่าสมัยที่วง Soul After Six เอาเพลงเก่าๆ รุ่นโน้นมาคัฟเวอร์กันทีเดียวละครับ นั่นคือ เมื่อฟังแล้วเราเชื่อว่าคนทำงานชุดนี้เขารักวงชาตรีจริงๆเพราะเขากลั่นและ กรองสิ่งที่คนฟังรู้สึกต่อเพลงของชาตรีออกมาได้งดงามแท้ๆ
    ผมไม่แน่ใจว่าคุณบรรณ ใบชาซอง ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์แกจะขี้เมาและชอบดื่มเหล้าอย่างพวกผมหรือเปล่า เพราะผมและพรรคพวกนั้นเกิดมาในยุคที่วงชาตรีกำลังพีกสุดๆ เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่เอามาเล่นยามตั้งวงก๊งเหล้าได้ถึงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใครในวงเหล้านั้นกำลังไปเหล่สาวอยู่ พวกเรานักดนตรีวงเหล้าก็จะพยายามร้องเพลงสไตล์คุณ คธาวุธ สะท้านไตรภพ และคุณ นราธิป ที่มีน้ำเสียงแบบยาน หน่วง และลากโทนหวานคร่ำครวญแข่งกันใหญ่ เพราะพวกผมมองว่าชาตรีนั้นเป็นวงดนตรีที่มีโทนเสียงร้องที่ดัดจริตแต่ออกมา ดูดีและเหมาะกับเพลงรักของเขามากที่สุด
    วงยุคนั้นอย่าง แกรนด์เอ๊กซ์ ก็ไม่ดัดและคร่ำครวญแบบนี้ รอยัล สไปรท์ส ก็ไม่ใช่ ขานั้นออกแนวบ้านทุ่งเสียมากกว่า จะมีหลังๆหน่อยรู้สึกว่าฟรุ๊ตตี้ก็มีกลิ่นครวญแบบนี้บ้าง แต่ทำออกมาแล้วไม่ค่อยเวิร์กหมือนเวงชาตรี
    บางวงดัดจริตแต่ดูแย่ก็มีนะครับ วงบางวงลากเสียงเสียยานน่ารำคาญก็มี แต่สำหรับชาตรีไม่ใช่แน่...มันเป็นอารมณ์และบ่งบอกความรู้สึกของคนที่กำลัง มีความรักได้อย่างเชัดเจน
    ผมอดจะหัวเราะไม่ได้ที่ได้ยินเพลง “ สักขีเจ้าพระยา” แต่ปรับแนวออกมาให้กลายเป็นลูกทุ่งได้อย่างเจ๋งมาก เพราะแต่เดิมเนื้อหาของเพลงนี้จะอยู่ในโทนฝากรักและคร่ำครวญต่อธรรมชาติ เนื้อเพลงโทนนี้เพลงลูกทุ่งก็มีเยอะ ไม่ว่าจะเป็น ฝากลม ฝากท้องนา ฝากฝน ฝากดิน ฯลฯ พอปรับจากสตริงยุคโน้นมาเป็นลูกทุ่งแบบลูกทุ่งโบราณ (ลูกทุ่งสมัยนี้จะกินตับกันอย่างเดียว) มันก็ได้อารมณ์ที่เพลินใจกันสุดๆ ทีเดียว
    เพลงอื่นๆ ของวงชาตรีนั้นถูกทำให้เป็นเพลงหลากสไตล์ดนตรี “รักต้องตอบด้วยรัก” มาแนวโฟล์คตัวดนตรีไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก แต่มีการเอานักร้องผู้หญิงมาสอบผ่านครับ “ ทะเลของเรา” งานนี้จากเดิมอารมณ์เพลงแบบว่าทะเลเมืองไทย กลับกลายเป็นทะเลฮาวายโดยใช้เครื่องดนตรีซูเปอร์ฮิตอย่างอูคูเลเล และมี สุเมธ องอาจ คนเสียงหล่อร่วมถ่ายทอด เสียงผิวปากช่วงท้ายเพลงเท่ดี...สอบผ่านครับ
    ขณะที่ “รักครั้งแรก” เพลงนี้เอามาทำเป็นลูกกรุงแทงโก้สไตล์ สวีทนุช ก็ไม่ได้รู้สึกแตกต่างหรือแตกแยกนะครับ ทั้งๆ ที่มันน่าจะแตก...สวยงามดีครับโดยเฉพาะเครื่องสายอย่างไวโอลินในเพลงนี้ ครึ่งหลังของอัลบั้มนั้นหนักไปทางเพลงที่ผมไม่โปรด แต่การทำดนตรีและเรียบเรียงยังออกมาได้ฉกาจฉกรรจ์และอุดมไปด้วยความเคารพต่อ จิตวิญญาณของดนตรีต้นฉบับครับ
    ผมไม่แน่ใจว่าแฟนพันธุ์แท้ชาตรีจะมองงานชุดนี้ว่าอย่างไร แต่สำหรับผมมันคืออรรถรสที่ชวนให้อิ่มเอม ไม่ว่าตัวคุณจะเป็นแฟนชาตรีหรือไม่ก็ตาม ความหลากหลายในท่วงทำนองและการเรียบเรียงดนตรีไปจนกระทั่งการบันทึกเสียงมี แต่ต้องร้องดังๆ ว่า “ชาบูๆๆๆๆๆๆ”


********************
กวนเพลงให้น้ำใส - “ชาตรี” รสใหม่ / หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดย อนันต์ ลือประดิษฐ์
   “ชาตรี” เป็นวงดนตรีป๊อปไทยรุ่นยุคทศวรรษ 2510s ที่เคยสร้างฐานแฟนเพลงอย่างเหนียวแน่น ก่อนจะเกิดค่ายเพลงใหญ่ที่ครอบงำวงการ อย่าง “แกรมมี่” และ “อาร์เอส” ด้วยซ้ำ พวกเขามีอัลบั้ม 15 ชุด และถือเป็นต้นธารของกระแส “เรโทร” ที่หวนกลับมาสู่สังคมไทยเป็นระยะๆ นับจากภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” เป็นต้นมา
   อัลบั้ม “ใบชา song ร้องเพลงชาตรี” เป็นการนำ 12 เพลงของวงชาตรีมาเรียบเรียง บรรเลง และถ่ายทอดเสียงร้องใหม่ โดยมี บรรณ สุวรรณโณชิน ในฐานะโปรดิวเซอร์ทำหน้าที่คัดสรรเอง ในบริบทแบบ “รักพี่เสียดายน้อง” เพราะเพลงชาตรีที่ไพเราะและเป็นที่ชื่นชอบมีอยู่มากมาย หากต้องตัดสินใจหยิบมาเพียงส่วนหนึ่ง
   เป็นเรื่องที่โปรดิวเซอร์ออกตัวไว้ก่อนแล้วว่า อาจจะทำให้แฟนเพลงบางคนผิดหวัง เพราะไม่มีเพลงฮิตติดดาวของชาตรีอย่าง แฟนฉัน, ยากยิ่งนัก, จากไปลอนดอน, อธิษฐานรัก ฯลฯ แต่เชื่อว่าหลายๆ เพลงที่เลือกมานั้น น่าจะสอดคล้องกับแนวคิดของการทำอัลบั้ม ที่มุ่งนำเสนอชาตรีในความหลากหลายของสไตล์เพลง และความลงตัวของนักร้องที่เชื้อเชิญมาถ่ายทอดมากกว่า
   ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คือการหยิบเพลงของชาตรีมานำเสนอในกลิ่นอายลูกทุ่ง ในเพลง สักขีเจ้าพระยา และ รักเพียงเธอ ซึ่งทั้งเสียงร้องและภาคดนตรีสอดประสานเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างน่าทึ่ง
 เสียง ร้องของ ธรรมรัตน์ แก้วมั่น ในเพลง สักขีเจ้าพระยา เป็นบทพิสูจน์ถึงฐานะดาวรุ่งในวงการเพลง สุ้มเสียงการร้องดีและเป็นธรรมชาติ หากจำกันได้ เขาคือเจ้าของเสียงร้องใน “เสียงครวญของหนุ่มไทย” ที่เคยสร้างความฮือฮามาแล้ว ขณะที่ภาคการโต้ตอบในแบบ call and response ระหว่างแฮมมอนด์ออร์แกนกับแซกโซโฟน ทำให้สไตล์เพลงลงตัวในแบบลูกทุ่งไทย
   ส่วน รักเพียงเธอ เป็นอีกบรรยากาศของเพลงลูกทุ่ง ที่ อรสุรางค์ อุดจัง ถ่ายทอดได้อย่างลื่นไหล กับภาคดนตรีที่กระเดียดมาแบบ “สมัยใหม่” แต่ชีพจรเพลงยังอิงความเป็นลูกทุ่งภาคกลาง มากกว่าหมอลำ
  ในอัลบั้ม ยังมีเพลง ทะเลของเรา จากเสียงร้องของ สุเมธ องอาจ ที่มองแบบอารมณ์ตั้งแต่เสียงผิวปากที่เป็นลายเซ็นเด่นชัดของเขา คลอเคล้ากับไลน์คอร์ดจากอะกูเลเล่ ขณะที่ รัก ครั้งแรก เป็นแทงโก้แบบไทยๆ โดย สวีทนุช ส่วน เฉือนหัวใจ ภาคดนตรีนำเสนออย่างประณีต สอดรับกับเสียงร้องเนียนๆ ของ ชุติมา แก้วเนียม ที่เป็นเพลงที่ไพเราะมากเพลงหนึ่งในอัลบั้มนี้
   สายชล ระดมกิจ แห่ง ดิ อินโนเซนต์ มากับเพลง ที่รักอย่าจากพี่ไป ในแบบสตริงย้อนยุค ส่วน เหมือนฝัน ในเวอร์ชั่นของ คณาคำ อภิรดี ลดทอนสเกลใหญ่จากเวอร์ชั่นดั้งเดิมให้เหลือเพียงเครื่องดนตรีสองชิ้นกับ เสียงร้องเปลือยๆ ที่ทั้งเหงาทั้งทุกข์ทั้งฝันในเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกันกับ รักเธอจนหมดหัวใจ จากการถ่ายทอดของ ต้อง ฟันนี รีฟิลล์ ส่วน อุ๊บอิ๊บส์ แห่ง ซินเดอเรลล่า นอกจากร้องคู่กับบรรณ ในเพลงเปิดอัลบั้ม รักต้องตอบด้วยรัก แล้ว เธอยังมี เข้าใจรัก มาฝากแฟนเพลง
   บรรณ สุวรรณโณชิน ยังมีเพลงร้องเดี่ยวอีก 2 เพลง คือ เธอเปลี่ยนใจ และ อย่าลืมฉัน นอกจากนี้ในซีดี “ลิมิเต็ด เอดิชั่น” ยังมีเพลงบรรเลงแถม จากฝีมือการบรรเลงแบบ ฟิงเกอร์สไตล์ ของ ชีพชนก ศรียามาตย์ ในเพลง เหมือนฝัน และอีกเพลงคือ ใบชาตรี เพลงแต่งใหม่ที่บรรณ เปลี่ยนจากเปียโนมาเล่นกีตาร์ย้อนอดีตความทรงจำเก่าๆ ดูบ้าง
   โดย ภาพรวม บรรณ ดูแลการผลิตงานชุดนี้ได้อย่างน่าพอใจ แม้หลายเพลงอาจจะไม่โดดเด่นนัก แต่นักร้องบางคนที่เลือกสรรมา มีลักษณะ “เฉพาะ” ที่ทำให้เปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของบทเพลงได้ตามความมุ่งหมายของโปรดิวเซอร์
   ถือ เป็นการ “สร้างความหมายใหม่” ให้แก่บทเพลงในบรรยากาศร่วมสมัย ด้วยดนตรีที่เรียบเรียงอย่างเรียบง่าย แต่บรรเลงค่อนข้าง “เนียน” จากฝีมือของนักดนตรีชั้นดี และด้วยคุณภาพการบันทึกเสียงที่ค่อนข้างใสกระจ่างชัดเจน



**********************
ดนตรีมีเหตุ: 'ใบชาร้องเพลงชาตรี' ฟังชาตรีกับดนตรีสไตล์ใบชาซอง /หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ /ศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2554 โดย นพปฎล พลศิลป์
   ออกมาได้พักใหญ่แล้ว สำหรับอัลบั้ม สดุดีหรือ Tribute ตามประสาฝรั่ง วงดนตรีอมตะอีกวงหนึ่งของวงการเพลงบ้านเรา "ชาตรี" ของค่ายใบชาซอง ซึ่งทั้งหมดก็เป็นการนำเอาเพลงของวงชาตรีนั่นแหละมาเรียบเรียงใหม่ ร้องใหม่ โดยการเรียบเรียง รวมไปถึงโปรดิวซ์ ผสมเสียง และทำมาสเตอร์นั้น เป็นฝีมือของ บรรณ สุวรรณโนชิน ศิลปินและเจ้าของค่ายนั่นเอง 
   การทำงานของ "ใบชาร้องเพลงชาตรี" เป็นการทำงานที่ต้นสังกัดเตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อมที่สุด เลือกเพลง เรียบเรียง ส่วนเจ้าของเสียงนั้นเป็นการคัดสรรโดยอิงกับเพลงที่มีไว้เป็นหลัก ทำให้อัลบั้มที่ออกมานั้นมีความลงตัว กลมกลืมในเรื่องอารมณ์ในการฟัง แต่ก็อาจจะไม่ได้ความสมบูรณ์ในเรื่องลักษณะเฉพาะตัวของศิลปิน ที่ต้องเป็นการทำงานแบบพบกันครึ่งทาง ระหว่างทางเพลงของอัลบั้มกับตัวศิลปินเอง
   ถือเป็นเรื่องได้อย่างเสียอย่าง และก็น่าจะเหมาะกับศิลปินที่มีเสียงร้องเป็นเอกลักษณ์ ชัดเจน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นคนทำงานที่ "ขาย" เสียงเป็นสำคัญ
   ในใบชาซองร้องเพลงชาตรี ศิลปินที่มาร้องเพลงในอัลบั้มแม้จะไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากมายทุกคน แต่ทุกคนก็มีศักยภาพอย่างที่ต้องการทุกราย และน่าจะเป็นอัลบั้มที่บรรดาผู้สมัครเดอะสตาร์ หรือว่าเอเอฟ ตลอดจนคนที่อยากรู้ว่าคน "ขาย" เสียงต้องร้องเพลงได้ประมาณไหนนั้น สมควรจะหามาฟังเป็นอย่างยิ่ง
   แม้ตัวดนตรีจะมีภาพรวมของอัลบั้มเป็น กรอบเอาไว้ บรรณก็สามารถแสดงรายละเอียดที่เป็นความแตกต่าง เป็นลักษณะเฉพาะของนักร้องแต่ละคนให้เห็นได้ เช่น ธรรมรัตน์ แก้วมั่น, อรสุรางค์ อุดจัง ที่เนื้อเสียงเป็นแบบนักร้องลูกทุ่ง ก็มากับเพลงที่มีความเป็นเพลงลูกทุ่ง (โดยเฉพาะรายหลังที่ทำให้นึกถึงเสียงร้องในสไตล์นักร้องลูกทุ่งหญิงรุ่นเก่าแบบผ่องศรี วรนุช กันเลยทีเดียว) หรือสายชล ระดมกิจ นักร้องนำของดิ อินโนเซนต์ ก็เป็นเพลงที่มีทางเพลงแบบงานเพลงไทยป็อปวัยรุ่นยุค 80 โดยเฉพาะซาวด์นั้นออกมาใกล้เคียงเพลงของดิ อินโนเซนต์เลยทีเดียว และรักครั้งแรก ที่ร้องโดยสวีทนุช ก็เป็นเพลงลูกกรุงสไตล์สุนทราภรณ์ที่ไพเราะไปอีกแบบ
   แน่นอนว่าทุกเพลงบันทึกเสียงมาเป็นอย่างดี ดนตรีนวลละเอียด และเน้นงานอะคูสติก ละมุนละไม
เพลงที่เลือกมาใส่ในอัลบั้มนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงที่ไม่ค่อยได้ฟังกันบ่อยนักของชาตรี อย่าง ทะเลของเรา (ร้องโดยสุเมธ องอาจ), เฉือนหัวใจ, เธอเปลี่ยนใจ, เหมือนฝัน หรือ เข้าใจรัก แต่ก็ยังมีเพลงที่คุ้นๆ กันดี เช่น รักต้องตอบด้วยรัก, รักครั้งแรก, อย่าลืมฉัน ข้อดีก็คือทำให้ไม่รู้สึกเฝือ เพราะเพลงฮิตหลายๆ เพลงของชาตรีก็คือเพลงที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ รวมทั้งเคยถูกคัฟเวอร์กันมาแล้วหลายต่อหลายรอบ
   นอกจากนี้ก็ยังทำให้แฟนเพลงที่ไม่ใช่ขาประจำของชาตรีได้รู้จักเพลงอื่นๆ ของวงดนตรีวงนี้มากขึ้นด้วย แต่ถ้าไม่ใช่แฟนชาตรี อัลบั้มชุดนี้ก็คืองานอีซีลิสนิง ฟังสบายๆ ที่เนื้อดนตรีนั้นไม่ได้หาฟังกันง่ายๆ ในยุคปัจจุบัน และไม่ต้องกลัวเรื่องความไพเราะเพราะพริ้ง เพราะเพลงของชาตรีนั้นเป็นงานป็อปจ๋าๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่หนนี้มาด้วยสีสันใหม่ เป็นสีสันในแบบดนตรีของใบชาซอง ฟังรื่นหู รื่นรมย์ ผ่อนคลายสบายความรู้สึก

***********

บุกบ้านบรรณ โดย ปณิธาน หล่อเลิศวิทย์ (ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2554) 
   บรรณ สุวรรณโณชิน น่าจะเป็นนักเพลงที่อยู่ใกล้ชิดผมมากที่สุด
ในแง่ที่ว่า พอผมเลี้ยวซ้ายออกจากปากซอยบ้าน เลียบคลองประปาไปสอง-สามอึดใจ เลี้ยวซ้ายอีกทีที่หัวมุมกระทรวงการคลัง ตรงไปอีกนึดนึงก็ถึงซอยบ้านเขาแล้ว
   เมื่อเห็นเขาบ่นผ่าน Facebook ว่า “เสร็จลงจนได้ อัลบั้มนี้เหนื่อยอิ๊บอ๋าย” ผมก็นึกอยากฟังขึ้นมา และทางที่เร็วที่สุดโดยไม่รบกวนใคร ก็คือ ไปฟังที่บ้านของบรรณ
“อัลบั้มนี้” ของบรรณ หมายถึง “ใบชา song ร้องเพลง ชาตรี” เป็นทริบิวต์อัลบั้มที่คัดสรรเพลงของวงดนตรีที่เป็นตำนานเพลงโฟล์ค มาทำใหม่ในสไตล์ Bun-Bun
   ทำไมถึงเป็น “ชาตรี” ผมถามทั้งที่มีคำตอบอยู่ในใจว่า คงเป็นเพราะคนรุ่นเขาเองโตมากับเพลงของวงนี้ และชาตรีก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เขาจับกีตาร์ แต่คำตอบที่มากกว่านั้นก็คือ ยังมีงานของศิลปินอีกมากที่เขาอยากทำ อย่างเช่น สุรพล สมบัติเจริญ, ดิ อิมพอสสิเบิ้ล, แกรนด์เอ็กซ์ เพียงแต่โอกาสในการทำเพลงชาตรีมาถึงก่อน “แฟนคลับชาตรีส่วนหนึ่งเป็นแฟนเพลงของเราด้วย ก็สนับสนุนกัน เรื่องลิขสิทธิ์เพลงก็เคลียร์กันได้หมด”
   ลิขสิทธิ์เพลงไทยเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าปวดหัว เรามีลิขสิทธิ์เพลงเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนเขียนเนื้อร้อง คนแต่งทำนอง แต่บ่อยครั้งที่โครงสร้างทางธุรกิจบิดเบือนกรรมสิทธิ์ตรงนี้ไปในรูปรอยและ วิธีการต่างๆ กันในแต่ละยุค
   ในกรณีของ “ใบชา song ร้องเพลง ชาตรี” การ “เคลียร์” ยังหมายถึงค่าลิขสิทธิ์เพลงที่ค่ายเพลงเล็กๆ สามารถจ่ายได้ “ถ้าต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงละสามหมื่นห้าหมื่นก็ไม่ไหว” คูณสิบเข้าไป การแบกต้นทุนค่าเพลง 300,000 บาทเป็นอย่างน้อยต่อหนึ่งอัลบั้ม โดยที่ยังไม่ได้เริ่มคำนวณต้นทุนอะไรอื่นเลย ไม่เพียงแต่เกินความสามารถที่ค่ายเพลงเล็กๆ จะแบกรับ การปรับตัวหลายๆ ระลอกของบริษัทมหาชนในยุคดิจิทัลดาวน์โหลดก็สะท้อนสถานการณ์ธุรกิจดนตรี ปัจจุบันได้หลายแง่มุม
   การที่บรรณประคอง “ใบชาซอง” ของเขามาได้หลายปี ก็โดยการทำทุกอย่างที่ทำได้ด้วยตัวเอง เขาแต่งเพลงเอง เรียบเรียงเอง โพรดิวซ์เอง เล่นเอง(บางส่วน) ร้องเอง(บางเพลง/บางชุด) และบันทึกเสียงในสตูดิโอเล็กๆ ของตัวเอง ผมขอให้เขาคำนวณยอดขายที่ช่วยให้อยู่รอดปลอดภัยได้ในยุคนี้ บรรณเคาะออกมาที่ 3,000 แผ่นต่ออัลบั้ม ซึ่งไม่มากเลยทั้งจำนวนชุดและจำนวนเงินที่กลับมา
แต่จะทำอย่างไร ถ้าคุณขายได้แค่ 500 แผ่น?
   งานของบรรณอยู่ในกลุ่มงานเพลงที่ “ไม่ขาย” มาตั้งแต่อัลบั้ม “บราซิล” ที่ออกกับอาร์เอส
แม้แต่อัลบั้ม “สำนวนสวนสัตว์” ในปี 2548 ที่เปิดทางให้เขาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางครั้งแรก พร้อมด้วยเสียงชื่นชมมากมาย กับอีกหลายรางวัลที่ได้รับ ก็มียอดขายเพียง 500 แผ่น ในตอนที่บริษัทจัดจำหน่ายเริ่มเก็บแผ่นออกจากตลาด โดยมียอดคืนสูงกว่ายอดขาย 9 เท่า
   แต่นั่นก็เป็นการพิสูจน์คน กับความหมายมั่นที่มี บรรณยังออกผลงานต่อมาทุกปี แต่มียอดผลิตที่ลดลงตามลำดับ จนมาถึงโครงการนำเสนอคุณแม่ยาย “สวีทนุช” ในอัลบั้ม “ต้นฉบับเสียงหวาน” ปี 2551 บริษัทจัดจำหน่ายบอกว่า “300 ก็พอ” แต่อัลบั้มที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายโดยสิ้นเชิงนี้ กลับประสบความสำเร็จใหญ่โต กลายเป็นอัลบั้มหาซื้อยากโดยไม่ต้องมีใครปั่นกระแส เพราะแผ่นที่ผลิตออกมาทั้งหมดมีเพียง 500 แผ่น
   สุดท้าย เมื่อซัพพลายสมดุลกับดีมานด์ ยอดขายก็ไปถึงหลักหมื่น และเปิดพื้นที่ให้ใบชาซองได้มีที่ทางของตัวเองอยู่ในธุรกิจดนตรี
   ในความผกผันระหว่าง “สำนวนสวนสัตว์” มาถึง “สวีทนุช” บรรณเรียนรู้หลายอย่าง หนึ่งคือ การแจกแผ่นไปตามรายการวิทยุ ตอนทำ “สำนวนสวนสัตว์” เขาวิ่งหว่านไปเท่าไร ก็แทบไม่มีใครเปิดออกอากาศ แต่กับ “สวีทนุช” รายการมากมายที่ไม่เคยเปิดเพลงของใบชาซองมาก่อน และเขาก็ไม่มีกะใจจะเอาไปแจกแล้ว กลับหามาเปิดกันจนได้ช่องทางจัดจำหน่ายก็เป็นปัญหาใหญ่ ค่ายเล็กกับงานที่ขายได้จำกัด มีพื้นที่และเวลาวางอัลบั้มอย่างจำกัด กว่าที่การขานรับของสื่อที่เดินทางช้าอย่างนิตยสาร และการบอกต่อของแฟนเพลงจะช่วยกระจายความสนใจออกไป บ่อยครั้งที่รอบการเก็บแผ่นคืนมาถึงเสียก่อน สิ่งที่บรรณได้เรียนรู้ต่อมาก็คือ ร้านซีดีที่เปิดรับงานชุดย้อนหลังของเขาเป็นช่องทางการขายที่สำคัญ และเขาก็เริ่มโฟกัสตลาดชัดเจนขึ้น โดยข้อมูลที่สะท้อนจากช่องทางการขายเหล่านี้ ควบคู่ไปกับช่องทางสื่อสารกับคนฟังเพลงผ่านทางเว็บไซต์ www.baichasong.comและเฟซบุ๊ค
   นั่นก็คือที่มาของการทำ “ใบชา song ร้องเพลง ชาตรี” ที่จะพึ่งพาระบบการจัดจำหน่ายในรูปแบบน้อยลง และเปิดการขายตรงด้วยรูปแบบ Limited Edition จำนวน 999 ชุด ในราคา 650 บาท ซึ่งผมคงบอกไม่ได้ว่าถูก แต่เท่าที่เห็นบางส่วนของแพ็คเกจพิเศษที่ยังไม่เสร็จดี ก็เห็นความตั้งใจของคนทำที่จะให้เป็นงานสะสมที่มีคุณค่าในตัวเอง
แต่เราซื้อซีดีเพื่อฟังเพลงเป็นอย่างแรกนี่นา...
   เป็นธรรมดาที่โพรดิวเซอร์จะเลือกเพลงในมุมมองของเขา บรรณเลือกเพลงของชาตรีโดยไม่มีเพลงอย่าง “จากไปลอนดอน” หรือ “แฟนฉัน” ด้วยเหตุผลว่า “ช้ำ” ซึ่งทำให้ “ทำยาก”
   สิ่งที่ผมรู้สึกตั้งแต่ฟัง “สำนวนสวนสัตว์” ก็คือ บรรณเป็นคนมีไอเดีย และตั้งใจทำงาน ส่วนของไอเดียที่สะท้อนในการทำทริบิวต์อัลบั้มเพลงของชาตรี คือการเรียบเรียงดนตรีออกมาหลากหลายลีลา เขาให้ สวีทนุชร้อง “รักครั้งแรก” ในจังหวะแทงโก้ ตัวเขาเองร้อง “เธอเปลี่ยนใจ” ในสไตล์บอสซาโนวา กับ “อย่าลืมฉัน” ในแนวพ็อปเนียนๆ และร้อง “รักต้องตอบด้วยรัก” คู่กับอุ๊บอิ๊บส์ ในแนวโฟล์คง่ายๆ ตัวอุ๊บอิ๊บส์ร้องอีกเพลง “เข้าใจรัก” ที่ตั้งใจทำแนวอิเล็กทรอนิกส์บางๆ ที่เป็นลูกทุ่งจากเสียงของเบิร์ด ธรรมรัตน์ กับกุ๊ก อรสุรางค์ ก็ได้พลิกอารมณ์ไปเป็นลูกทุ่งจริงๆ
   แต่ไอเดียก็ดูจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ผมเข้าใจว่าบรรณจำเป็นต้องจัดสมดุลระหว่างแนวดนตรีตามไอเดียของเขา กับข้อจำกัดของนักร้องที่เขามี ได้ยินเขาเปรยๆ อยู่เหมือนกันว่ามีนักร้องอีกสามคนที่น่าจะได้มาร่วมร้องในอัลบั้มนี้ อาจเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้ผมรู้สึกว่าบางเพลงในส่วนที่ร้องโดยคนใกล้ชิดมีการปรับหาจุดลงตัว บางอย่างกับแนวดนตรีที่น่าจะเป็น
   แต่กับนักร้องรับเชิญสามคน เหมือนกับบรรณมีภาพชัดแต่แรกแล้วว่า ใครเหมาะที่จะร้องเพลงไหน ในลีลาใด แล้วมันก็ออกมาสมบูรณ์ทีเดียว ทั้ง สายชล ระดมกิจ กับ “ที่รักอย่าจากพี่ไป” ในลีลาดิอินโนเซ้นท์ บี๋ คณาคำ อภิรดี กับอารมณ์ซึ้งใน “เหมือนฝัน” และความเบิกบานของสุเมธ องอาจ ในเพลง “ทะเลของเรา”
   ศิลปินรับเชิญอีกคนคือ ชีพชนก ศรียามาตย์ ไม่ได้มาร้องแต่มาเดี่ยวกีตาร์เพลง “เหมือนฝัน” ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงที่มีแต่ในชุด Limited Edition เท่า นั้น ถ้าไม่ได้ฟังอาจจะรู้สึกว่าไม่เป็นไร แต่ผมได้ฟังแล้ว เสียดายเหมือนกันที่แผ่นวางขายทั่วไปจะไม่มีเพลงนี้รวมอยู่ด้วย เช่นเดียวกับเพลงบรรเลง “ใบชาตรี” ที่บรรณแต่งขึ้นใหม่ในสไตล์ของชาตรี
   ส่วนที่สะท้อนถึงความตั้งใจทำงาน คือ รายละเอียดของงานในแต่ละองค์ประกอบ และคุณภาพงานโดยรวม ตั้งแต่คุณภาพเสียงและการบันทึกเสียง การมิกซ์และทำมาสเตอร์ การออกแบบปกและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งทำให้งานที่ออกมาในนามใบชาซอง มีความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ และวางใจได้มาตลอดหลายปี
   คำว่า “วางใจได้” มีความสำคัญมากในตลาดเพลงระดับออดิโอไฟล์ งานที่ผ่านมาของบรรณ เป็นที่กล่าวถึงและยอมรับกันมากขึ้นเป็นลำดับในคนฟังเพลงจากเครื่องเสียง ชั้นดี ที่ต้องการคุณภาพเสียงที่ดีพอๆ กัน (หรือมากกว่า) เพลงที่ชอบ และบรรณก็ใช้ช่องทางงานแสดงเครื่องเสียงที่จัดกันหลายราย ปีละหลายครั้ง เป็นช่องทางการขายและสร้างฐานแฟนเพลงในตลาดนี้ขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ
   แม้จะต้องแลกกับเสียงบ่นว่า “เหนื่อยอิ๊บอ๋าย” ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากการที่ต้องแบกรับความคาดหวังเรื่องคุณภาพเสียงจากคน ฟังกลุ่มนี้ แต่เมื่อถามไถ่ต่อไป บรรณบอกว่าเป็นงานเหนื่อยที่มีความสุข
   การทำงานอาจจะยากขึ้น แต่มันก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำอยู่แล้ว#

****************

นิตยสาร audiophile / โดย ดร.ชุมพล มุสิกานนท์

***************

เพลงในโลกดิจิทัล / เนชั่นสุดสัปดาห์ / โดย อนันต์ ลือประดิษฐ์************************

STEREO MAG./ โดย ดร.ชุมพล มุสิกานนท์

*************************

The Wave mag. /  june2011

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้