บทวิจารณ์ Baicha Time

กวนเพลงให้น้ำใส - ช่วงเวลาของ "ใบชา" / หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก /  ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน 2551 โดย นกระเบิด

   ผมคุ้นเคยกับ "ใบชากรุ๊ป" ของ บรรณ สุวรรณโณชิน มานานแล้ว ก่อนที่อัลบั้ม "สวีทนุช" ที่เขาโปรดิวซ์ให้คุณแม่ยาย จะได้รับความสนใจจากแวดวงนักฟังเพลงในฐานะเพลงนอกกระแส โดยมีเพลงฮิต เช่น "รักยุคไฮเทค" เป็นต้น

   บรรณ เคยทำงานในสังกัดใหญ่อย่าง "อาร์เอส" มาก่อน น่าเสียดายว่า เสียงตอบรับอัลบั้ม "บราซิล" ของเขา แม้นักวิจารณ์จะให้ความสนใจ แต่ยอดขายไม่ดีนัก นั่นคงทำให้ต้นสังกัดใหญ่ไม่เห็นค่าเท่าที่ควร แต่ด้วยสัญญาที่ผูกพันยาวนานหลายปี ทำให้บรรณต้องดิ้นรนเพื่อให้หลุดออกมาเป็นอิสระ ดังที่เคยเป็นข่าวเมื่อหลายปีก่อน

   เมื่อเปรียบเทียบกับนักร้องนักแต่งเพลง และนักดนตรีในวงการวันนี้ ต้องยอมรับว่า บรรณ ขยันมีผลงานออกมาแทบไม่ขาดช่วง ทั้งงานเพลงของตัวเอง (บราซิล ปี 2547, สำนวนสวนสัตว์ ปี 2548, พูดพร่ำทำเพลง ปี 2549 และ คนบ้าบอล ปี 2550) รวมถึงงานที่โปรดิวซ์ให้เพื่อนศิลปิน อย่าง สอแซ็ก เมื่อปี 2548 ซึ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่นเอาจริงกับเส้นทางสายดนตรีของเขา

   อัลบั้มที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ ปัจจุบันคงซื้อหาตามแผงทั่วไปไม่ได้ อาจจะมีวางแค่ร้านซีดีชั้นนำที่เน้นขายเพลงอินดี้บางแห่ง และเมื่อมีผลงานออกมาจำนวนหนึ่ง บรรณ ก็ตัดสินใจหยิบบางเพลงจากอัลบั้มเหล่านี้มานำเสนอใหม่ด้วยสุ้มเสียงที่แตก ต่างไปจากเวอร์ชั่นเดิม

   "ใบชาไทม์" หรือช่วงเวลาของใบชา เป็นกึ่งๆ มินิอัลบั้มที่มี 8 เพลง ในสุ้มเสียงที่หลากหลาย ทั้งโฟล์ก, สวิง, ป๊อปบัลลาด, โฟล์ก ร็อก, ละติน ร็อก และร็อก

   หลายเพลงแฟนเพลงคงรู้จักคุ้นเคยดีอยู่ แล้ว เช่น รักยุคไฮเทค หากคราวนี้เรียบเรียงดนตรีเสียใหม่ พร้อมด้วยเสียงร้อง เช่นเดียวกันเพลง ชาเย็น ร้องโดย สวีทนุช ซึ่งเดิมมาจากอัลบั้ม สำนวนสวนสัตว์

ของมึนเมา มาจากอัลบั้ม คนบ้าบอล ที่มีเสียงออร์แกนดวลกับแซ็ก เปลี่ยนบรรยากาศไปอีกแบบ ส่วน พ่อ ของฐานันดร ชูประกาย เป็นบทเพลงที่มีความหมาย แต่เสียงร้องกลับฉุดภาคดนตรีที่บรรเลงได้อย่างละเมียดละไม

   ชีพชนก ศรียามาตย์ มาร่วมเล่นกีตาร์อะคูสติกให้ในเพลง ดำเนินต่อไป ในเพลงเดียวกันมี หนึ่ง สลีปเปอร์ วัน ร่วมร้องด้วย

   เช่นเคย โก้ มิสเตอร์แซกแมน ร่วมแจมกับ บรรณ ในเพลง ยูเอฟโอ อิน เนปาล เป็นงานภาคบรรเลงที่เด่นที่สุดเพลงหนึ่งในอัลบั้มนี้ ส่วน เจ้าลิงกับมะพร้าว เป็นชีพจรของละตินร็อก ที่นำเสนอในลักษณะ "พูดเพลง" ถ่ายทอดเรื่องราวโดย "หมึก" วิโรจน์ ควันธรรม และมี ป๊อป เดอะ ซัน ใส่เกียร์เล่นกีตาร์อย่างเมามัน

   เซอร์ไพรส์ปิดท้ายอัลบั้ม คือ เพลงของเรา งานเก่าเมื่อปี 2539 สมัยที่ทำในนาม มิ้นท์ แอนด์ แจ็ค ด้วยการนำชื่อเพลง 57 เพลงของ อัสนี-วสันต์ มาเรียงร้อยให้เป็นเพลง ซึ่งเทคนิคนี้ บรรณ ใช้ในอีกหลายเพลงต่อมา เช่น สำนวนสวนสัตว์ แต่ผมคิดว่าคงใช้ไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้วกระมัง เพราะมันดูซ้ำเกินไป เพลงของเรา ไม่เพียงใส่คำร้องจากชื่อเพลงของ อัสนี-วสันต์ เท่านั้น แต่ยังสะท้อนบุคลิกภาพทางดนตรีของศิลปินคู่คนนี้ ทั้งภาคการร้องและดนตรี ที่บ่งบอกถึงอารมณ์ขันของคนทำงานนี้อีกด้วย

   ในยุคสมัยที่เรายอมจ่ายเงินให้แก่สินค้า และบริการมากมาย แต่กลับละเลยในการสนับสนุนงานดนตรีของศิลปิน... อย่างน้อยๆ นี่คือความหลากหลายที่วงการเพลงอินดี้มีให้แก่คนฟัง และเตือนให้คุณตระหนักว่า เรากำลังหลงลืมอะไรบางอย่างหรือเปล่า?

ผลงาน : ใบชา ไทม์
ชื่อศิลปิน : กลุ่มศิลปินใบชากรุ๊ป (บรรณ สุวรรณโณชิน)    
สังกัด/จัดจำหน่าย : ใบชากรุ๊ป / โทร.0-2271-4638, 08-9660-9666 
ความยาว : 8 แทร็ก 34.26 นาที 
ภาพรวม : อัลบั้มรวมเพลงที่นำเสนอเพลงให้แตกต่างจากเวอร์ชั่นต้นฉบับ 
คุณภาพเสียงร้อง : 7 (เต็ม 10) 
คุณภาพวัตถุดิบ (ตัวเพลง) : 7 
คุณภาพดนตรี : 8 
ความเห็นสุดท้าย : คุณภาพเสียงดีเกินคาด สำหรับแฟนเพลงนักเล่นเครื่องเสียงจะพบความแตกต่างจากอัลบั้มเพลงไทยทั่วไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้