บทวิจารณ์ สุรพลคลับ - รวมศิลปินนักร้อง โดย นพปฎล พลศิลป์

สุรพลคลับ การกลับมาของเพลงชั้นครู ในอีกอรรถรสหนึ่งของสิ่งที่เคยคุ้น คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 19 ตุลาคม 2561

การทำอัลบัม Tribute หรือสดุดีที่เป็นการนำเพลงเก่ามาเรียบเรียงใหม่ ทำใหม่ มองกันเผินๆ ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แค่หยิบเอาเพลงที่รู้จักกันดีมาทำ เรียบเรียงให้เข้ายุคเข้าสมัย หรือให้เข้าปากกับนักร้องที่จะมาทำหน้าที่แทนเจ้าของเสียงตัวจริง ส่วนเรื่องการขายต่างๆ คิดกันแบบง่ายๆ ก็ไม่น่าจะยากอีกเช่นกัน เพราะเพลงเหล่านี้ล้วนผ่านการพิสูจน์ของกาลเวลามาแล้วเรียบร้อย

แต่เอาเข้าจริงๆ การทำอัลบัมสดุดี ไม่เคยมีง่ายเพราะสิ่งหนึ่งที่เลี่ยงไม่พ้นก็คือ การถูกนำไปเปรียบเทียบกับต้นฉบับ ที่แน่นอนว่ายากที่จะทำให้ได้เทียบเคียงผลงานชั้นครูเหล่านั้นได้ แต่กับการเป็นงานยุคหลังก็ได้เปรียบเสมอเรื่องเทคโนโลยีในการบันทึกเสียง และการทำงานที่เข้ายุคเข้าสมัย หรือการตีความใหม่ ที่ทำให้ได้เห็นอีกด้านหนึ่ง หรืออีกมุมหนึ่งของเพลงเดิมๆ สำหรับผลงานที่ไม่ได้ทำกันแบบสุกเอาเผากิน นอกเหนือไปจากการส่งต่อเพลงเหล่านี้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง

ซึ่งอัลบัมชุด สุรพลคลับ จากค่ายเพลงใบชาซองของบรรณ สุวรรณโณชิน ที่ทำขึ้นในวาระครบรอบ 50 ปีของสุรพล สมบัติเจริญ กับการนำ 11 เพลงจากการประพันธ์ของครูเพลงระดับตำนานรายนี้ มาทำดนตรีกันใหม่ ก็เป็นงานสดุดีอีกชุดที่ใช้ข้อได้เปรียบในเรื่องเทคโนโลยี การตีความใหม่ และการทำงานที่ละเอียดละเมียด มาทำให้งานเพลงเก่ากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งได้อย่างน่าสนใจ

โดยที่อย่าลืมว่าบทเพลงที่ถูกนำมาทำใหม่ในแบบบูชาครูหนนี้ ล้วนมีเอกลักษณ์ มีเสน่ห์เฉพาะตัวมากๆ โดยเฉพาะเสียงร้อง ที่ใครได้ยินก็จดจำได้ในทันที โดยที่ไม่ต้องไปนึกถึงต่อว่า เพลงเหล่านี้นั้นคือเพลงฮิต เพลงดัง และ 11 เพลงที่กลายมาเป็น 12 เพลงในอัลบัม สุรพลคลับ (มีหนึ่งเพลงที่ทำออกมาเป็นสองฉบับ) ก็คือเพลงคลาสสิกของวงการเพลงไทย

หากเป็นคอเพลงที่ยึดติดกับเสียงร้องต้นฉบับ การเรียบเรียงอย่างที่คุ้นเคย แน่นอนว่าคงขัดใจกับงานชุดนี้ไม่น้อย แต่ถ้าอยากสัมผัสกับอรรถรสใหม่จากเพลงเดิมๆ ความแปลก และแตกต่าง นี่คืองานที่น่าสนใจไม่น้อย แถมยังท้าทายทั้งคนทำงานที่ว่าจะนำพาเพลงอมตะเหล่านี้ขยับขยายไปจากกรอบที่เคยเป็นมา ทั้งคนฟังกับการพาอารมณ์ ความรู้สึกไปกับเสียงใหม่ๆ การตีความใหม่ๆ

และเพลงใน สุรพลคลับ ก็เปิดโลกอีกใบให้กับเพลงเก่าที่คุ้นเคยได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็น “มอง” จากเสียงร้องของนภ พรชำนิ ที่ฟังนุ่มนวลละมุน หรือความขมขื่นในแบบอาร์-บูกับ “16 ปีแห่งความหลัง” ที่บาดลึกด้วยเสียงเครื่องเป่า เคล้าเสียงหม่นๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของเจ้าตัว หรือ “รอยไถแปร” ก็ทำให้ได้สัมผัสกับเสียงร้องในอีกมิติของศักดา พัทธสีมา รวมไปถึง “หงส์ปีกหัก” ที่ส่งสัมผัสความบอบช้ำ ในแบบน่าสมเพช ผ่านการตีความของสุทธิพงษ์ วัฒนจังและการเรียบเรียงดนตรีของบรรณ ขณะที่ “ด่วนพิศวาส” ก็เศร้า ช้ำ แบบน้ำตาตกใน ที่ต่างไปจากความรู้สึกดั่งโดนใบมีดกรีดใจของผ่องศรี วรนุช อย่างชัดเจน

หากสังเกตดีๆ แต่ละเพลงในอัลบัมชุดนี้รับกับเสียงร้องและแนวทางของนักร้องแต่ละคน โดยที่ยังคงท่วงทำนองเดิมๆ เอาไว้ และหากไม่ยึดติดกับงานต้นฉบับ การฟังเพลงจากสุรพลคลับ คือความสนุก โดยเฉพาะการฟังครั้งแรก ที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นกับรสชาติใหม่ๆ ของเพลงที่ได้ยินได้ฟังกันมาตั้งแต่นานนม ที่มีเซอร์ไพรส์ มีความแตกต่างให้สัมผัสตั้งแต่เพลงแรกไปจนถึงเพลงสุดท้าย และจากที่ได้ยิน โดยไม่ต้องไปนึกถึงเรื่องคุณภาพในการบันทึกเสียงที่เป็นลายเซ็นของค่ายเพลงนี้อยู่แล้ว บรรณกับบรรดานักร้องรวมถึงมือแซ็กโซโฟนอย่าง ภาสกร โมระศิลปิน สามารถสร้างความสดให้กับเพลงตำนานเหล่านี้ได้สำเร็จ ถือเป็นอีกอรรถรสหนึ่งของสิ่งที่เคยคุ้น ที่ฟังแรกๆ อาจจะยังรู้สึกแปร่งๆ แต่เมื่อฟังไปนานๆ แม้อาจจะไม่ถึงกับอร่อยล้ำ แต่ก็รู้สึกอยากฟังซ้ำๆ บ่อยๆ มีบางอย่างที่น่าค้นหา ไม่ใช่ฟังแล้วปล่อยเลยผ่านไปแต่อย่างใด

(หมายเหตุ: หากหาซื้ออัลบัมชุดนี้ไม่ได้ สามารถสั่งซื้อได้ที่ www.baichasong.com หรือสอบถามได้ที่ baichasong@yahoo.com, baichasong@gmail.com และที่ไลน์ @baichasong)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้